Friday, 4 April 2025
สถาพร บุญนาจเสวี

พระสนมผู้อาภัพแห่งราชวงศ์ชิง โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตที่จบลงก้นบ่อน้ำ

ปลายราชวงศ์ชิงของจีน นับเป็นช่วงยุ่งเหยิงของราชสำนัก เนื่องจากมีภัยจากจักรวรรดินิยมตะวันตกผสมกับชาติในเอเชียที่ต้องการครอบครองพื้นที่ และทรัพยากรของแผ่นดินมังกรแห่งนี้ แต่ภัยภายนอกนั้นยังไม่เท่าภัยภายในที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของคนในราชสำนักชิงเอง การฉ้อราษฏร์บังหลวงเป็นเรื่องปกติ การแลกผลประโยชน์กับต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ตน เป็นธรรมเนียมที่ผู้รู้เอาตัวรอดมักทำเสมอ การเดินตามโลกไม่ทันด้วยความคิดที่ปิดตนเองจากรอบด้าน หยิ่งทะนงว่าตนคือผู้ครองแผ่นดิน ด้วยรากหยั่งลึกไม่มีสิ่งใดมาสั่นคลอนได้ ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้จีนมาถึงจุดสิ้นสุดของระบอบจักรพรรดิ โดยมีผู้เร่งปฏิกิริยาอันไม่มีผู้ใดทัดทานได้อย่าง “พระนางซูสีไทเฮา” นางพญาหงส์ผู้อยู่เหนือมังกร

แต่...บทความนี้เรื่องราวหลักไม่ใช่พระนางซูสีไทเฮา แต่เกี่ยวกับพระสนมผู้อาภัพองค์หนึ่งใน “จักรพรรดิกวงซวี่” จักรพรรดิพระองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งพระสนมองค์นั้นคือพระสนม “เจินเฟย” 

พระสนมเจินเฟย เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1876 กำเนิดในเผ่าตาตาล่า กองกำลงธงแดงแห่งแมนจู มีบิดาชื่อ “จ่างซวี่” เป็นผู้ช่วยประจำกระทรวงพิธีกรรม มีมารดาแซ่จ้าว และมีพี่สาวต่างมารดาอีก 1 คน ซึ่งภายหลังก็คือพระสนมจิ่นเฟย ตามประวัติ พระสนมเจินเฟยเติบโตในเมืองกว่างโจวซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของจีนโดยอาศัยอยู่กับแม่ทัพ“จ่างซ่าน” ผู้เป็นลุง ต้องบอกว่า “กว่างโจว” คือเมืองท่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเวลานั้น มีการค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งในประเทศ และต่างชาติ เป็นปัจจัยทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่กว่างโจวมีหูตากว้างไกลกว่าคนคนจีนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ทำให้อุปนิสัยของพระสนมเจินเฟยนั้นค่อนข้างแตกต่างกับหญิงสาวคนอื่น ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันพอสมควร 

พระสนมเจินเฟยได้ย้ายจากกว่างโจวไปปักกิ่งเมื่อตอนอายุ 10 ปี จนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.188๙ ก่อนวันเกิดของพระสนมเพียง 1 วัน ในวัยย่าง 13 ปี พระสนมเจินเฟย และพระสนมจิ่นเฟยพี่สาวผู้มีอายุ 15 ปี ก็ได้รับคัดเลือกเข้าวังไปเป็นนางกำนัล จนเวลาผ่านไป 5 ปี ทั้งคู่จึงได้เป็นพระสนมใน “จักรพรรดิกวงซวี่” 

เจาะจงไปที่พระสนม “เจินเฟย” นั้นมีหน้าตาที่ค่อนข้างดี ดูน่ารัก แต่สิ่งที่ต่างจากพี่สาว และผู้หญิงในวังคนอื่น ๆ คืออุปนิสัยร่าเริง สดใส ตรงไปตรงมา กระตือรือร้น และมีความคิดที่เปิดกว้าง พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะด้วยนางได้เคยอยู่ที่กว่างโจวมาตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้มีความรู้ติดตัวมาซึ่งนี่นับเป็นพรอันประเสริฐของนาง แต่ก็เป็นคำสาปร้ายที่ทำให้บั้นปลายของนางจบด้วยความรันทด โดยผู้บันดาลพร และคำสาปนั้นมาจากพระนางซูสีไทเฮาป้าแท้ ๆ ของจักรพรรดิกวงซวี่นั่นเอง 

ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นพระนางซูสีไทเฮา โปรดในทักษะความสามารถของพระสนมเจินเฟยเป็นอย่างยิ่ง ทรงว่าจ้างศิลปินชั้นนำของประเทศมาสอนพระสนมในด้านศิลปะ ด้านการดนตรี และด้านอักษรเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งยังรับสั่งให้ช่วยตรวจสอบเอกสารราชการ บางครั้งคราวก็ได้รับมอบหมายให้เขียนอักษรมงคลเพื่อเป็นของขวัญแด่เหล่าขุนนางในวัง ซึ่งนางปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกว่าถูกใจพระนางซูสีไทเฮาเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งมีบันทึกยืนยันตรงกันว่าพระสนมเจินเฟยนั้นเชี่ยวชาญทั้งวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เล่นดนตรีได้ วาดรูปเป็น เขียนอักษรศิลป์ได้ และช่ำชองการเล่นหมากรุก เรียกว่าครบเครื่อง นอกจากนี้เมื่อเข้าวังแล้ว พระสนมเจินเฟย ยังมีความสนใจด้านการถ่ายภาพ ซึ่งแตกต่างไปจากคนจีนสมัยนั้นที่ยังคิดว่ากล้องถ่ายภาพคือเครื่องมือดูดวิญญาณ (พระนางซูสีกับเหล่าขันทีกลับถ่ายภาพกันเพียบ ย้อนแย้งจริงๆ) แต่พระสนมกลับไม่มีความเชื่อนี้อยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย แน่นอนว่าบุคลิกแบบนี้จึงทำให้ “จักรพรรดิกวงซวี่” ซึ่งมีหัวค่อนข้างสมัยใหม่ โปรดปรานนางเป็นยิ่งนัก ทั้งสองมักจะใช้เวลาร่วมกันในการถ่ายภาพ ด้วยรูปแบบที่คล้ายกับผลงานของชาวตะวันตก กล่าวกันว่าในปี ค.ศ. 18๙4 พระสนมเจินเฟย ได้สั่งซื้อกล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ครบชุดจากนอกพระราชวัง ซึ่งนางเป็นชาววังคนแรกที่นำกล้องถ่ายภาพเข้ามาใช้ในวังหลวง โดยอุปกรณ์ประกอบการถ่ายภาพที่มีทั้งฉากที่เอื้อกับการโพสต์ท่า เครื่องแต่งกายแบบตะวันตก หรือการแต่งกายแบบแฟนซี 

เมื่อได้อุปกรณ์มากพระสนมก็ขลุกอยู่แต่ในตำหนักจิ่งเหรินกงของตนเพื่อเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ ไม่เพียงถ่ายภาพตนเอง แต่ยังถ่ายภาพจักรพรรดิกวงซวี่รวมทั้งบรรดาข้าราชบริพาร อีกทั้งถวายการสอนเทคนิคการถ่ายภาพแด่องค์จักรพรรดิถึงพระที่นั่งหย่างซินเตี้ยน อันเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิด้วย เรียกว่าไม่นำพาธรรมเนียมของราชสำนัก นอกไปจากการถ่ายภาพแล้ว พระสนมยังสนทนากับองค์จักรพรรดิในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ซึ่งแน่นอนพระสนมสนับสนุนให้องค์จักรพรรดิดำเนินการปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อกอบกู้ประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากรอบด้าน รวมไปถึงสะสางปัญหาการแทรกแซงการปกครองจากภายใน ซึ่งนั่นไม่รอดพ้นหูตาของพระพันปีซูสีไทเฮา 

การไม่โปรดพระสนมเจินเฟย ของพระนางซูสีไทเฮานั้นนอกจากความเป็นคนหัวสมัยใหม่เกินงามแล้ว ยังเกิดจากการไม่ยอมอยู่ในแผนงานของพระนางนั่นเอง ในแผนการของพระนางก็คือดันพระนัดดาในพระองค์คือ “พระนางหลงยฺวี่” ซึ่งมาจากเผ่าเยเฮ่อน่าลา เผ่าเดียวกับพระนางซูสีไทเฮา ให้ขึ้นเป็นพระจักรพรรดินีเพื่อจะครอบงำราชสำนักให้เบ็ดเสร็จ (จักรพรรดิก็เป็นหลาน และจักรพรรดินีก็เป็นญาติจักรพรรดิ เป็นหลานของพระองค์อีก) แต่เรื่องแบบนี้ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดัง เพราะจักรพรรดิกวงซวี่ดันไม่สนใจพระนางหลงยฺวี่เลยแม้แต่นิดเดียว แถมยังไปประทับอยู่กับพระสนมเจินเฟยแทบจะเป็นประจำ 

แม้พระนางซูสีไทเฮาทรงอยากให้ทั้งสองพระองค์นั้นรักใคร่กัน แต่ยิ่ง “พระนางหลงยฺวี่” พยายามเข้าหาองค์จักรพรรดิเท่าไหร่ พระองค์ก็ยิ่งทำนิ่งเฉยจนกลายเป็นเหินห่างมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความประสงค์ของพระนางซูสีไทเฮาที่หวังจะใช้ “พระนางหลงยฺวี่” คอยกำกับดูแลจักรพรรดิกวงซวี่ก็ลดน้อยถอยลง ส่วน “พระนางหลงยฺวี่” เมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างเย็นชาจากองค์จักรพรรดิหลายต่อหลายครั้งก็เลยเป็นแรงแค้นผลักให้พระองค์เดินหน้าจัดการพระสนมคนโปรดขององค์จักรพรรดิด้วยการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นภัยต่อพระสนมเจินเฟย โดยเฉพาะทรงเล่าเรื่องเกินจริงเกี่ยวกับความคิดที่จะก่อกบฏต่อพระนางซูสีไทเฮา

การลงโทษสนมเจินเฟยนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มจากการชอบแต่งกายถ่ายภาพ โดยเวลาตามเสด็จจักรพรรดิกวงซวี่พระสนมมักแต่งตัวเป็นขุนนาง ถักเปียยาว สวมหมวกสีแดงแบบราชวงศ์ชิง แล้วก็ถ่ายภาพร่วมกับองค์จักรพรรดิ ซึ่งพฤติกรรมผิดกฏของวังหลวงเมื่อเรื่องนี้ถึงพระกรรณของพระนางซูสีไทเฮา พระองค์ทรงกริ้วอย่างมากก่อนจะสั่งลงโทษพระสนมเจินเฟยด้วยการตบปากซึ่งถามว่าพระสนมเข็ดไหม ? ตอบเลยว่าไม่ ? 

วิบากต่อมาก็สืบเนื่องจากการที่พระสนมชื่นชอบการถ่ายภาพอีกนั่นแหละ เลยคิดการเปิดร้านถ่ายภาพโดยดำเนินการผ่านขันทีประจำตำหนักของพระสนมนามว่า “ไต้อันผิง” ซึ่งเขามักออกไปยังร้านถ่ายภาพนอกวังหลวง ซึ่งไม่รอดพ้นสายพระเนตรของพระนางซูสีไทเฮา พระนางได้ทราบว่าพระสนมเจินเฟยได้นำเงินเก็บไปเปิดร้านถ่ายภาพ เมื่อทราบดังนั้นพระนางจึงมีรับสั่งให้ปิดร้านถ่ายภาพ สั่งประหารชีวิตไต้อันผิง และโบยพระสนมเจินเฟยซึ่งกำลังตั้งครรภ์ 3 เดือนจนแท้งลูก อีกทั้งก่อให้เกิดอาการของโรคทางนรีเวช (เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์) ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก (อันนี้เดาว่าไหน ๆ ก็ไหน ลงโทษทั้งทีก็จัดการไม่ให้สามารถกำเนิดโอรสสวรรค์ได้ซะเลย) 

นอกจากนี้พระสนมยังถูกกล่าวโทษว่าไปพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่งขุนนาง (อันนี้เพียงแต่กล่าวโทษแต่ไม่ได้ระบุว่าจริงหรือไม่) แต่ประเด็นที่โดนเพ่งเล็งที่สุดคือความคิดเห็นที่มีทีท่าสนับสนุนให้จักรพรรดิกวงซวี่ปฏิรูปประเทศ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของประเทศที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากชาติจักรวรรดินิยม และภายในประเทศที่เกิดจากความล้าหลังของระบบการปกครอง ทำให้องค์จักรพรรดิมีแนวคิดดังกล่าว พระองค์ได้ร่วมมือกับ คังโหย่วเหวย เหลียงฉี่เชา และขุนทหารอย่าง หยวนซื่อไข่ โดยมีเป้าหมายหลักคือปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษาให้เทียบเท่าอารยประเทศ อันมีผลกระทบโดยตรงต่อพระนางซูสีไทเฮา เพราะจะปฏิรูปได้นั้นต้องยึดอำนาจคืนจากพระนาง แต่ทว่าการปฏิรูปเดินหน้าไปเพียงแค่ 103 วัน ก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากมีการหักหลังจากผู้เสียประโยชน์ และผู้ที่ต้องการผลประโยชน์เหนือราชสำนักอย่าง หยวนซื่อไข่ ทำให้นักปฏิรูปถูกจับ และโดนประหาร ส่วนองค์จักรพรรดิก็ถูกนำไปกักตัวไว้ที่เกาะกลางทะเลสาบในพระราชวังฤดูร้อน โดยมีขันทีคอยดูแล ส่วนพระสนมเจินเฟยถูกโบยและนำไปจองจำที่ตำหนักเย็น

จนมาในปี ค.ศ. 1900 เกิดเหตุกองกำลังผสม 8 ชาติบุกปักกิ่ง ด้วยเหตุที่พระนางซูสีไทเฮาไปสนับสนุนกบฏนักมวยให้ทำร้ายชาวต่างชาติ พระนางจึงทรงคิดจะลี้ภัยไปซีอาน โดยเชิญเสด็จ ฯ จักรพรรดิกวงซวี่ไปด้วย ซึ่งตามบันทึกก่อนหน้าที่จะเสด็จลี้ภัย พระนางซูสีไทเฮาได้ทรงเบิกตัวสนมเจินเฟยมาเฝ้าและมีรับสั่งว่า

“เมื่อแรกเราตั้งใจจะนำเจ้าไปกับเราด้วย แต่เจ้านั้นยังอ่อนวัยและจิ้มลิ้มนัก เกรงว่าจะถูกพวกทหารต่างชาติกระทำทารุณข่มขืนเอาได้ ดังนั้น เราเชื่อว่าเจ้าคงเข้าใจว่าควรทำเช่นไรต่อไป” 

ซึ่งก็ชัดเจนว่าพระสนมนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ตามไป ทั้งยังให้กระทำ “อัตวินิบาตกรรม” แต่พระสนมไม่เพียงแต่จะไม่ทำตามแล้ว พระสนมเจินเฟยกลับหาญกล้าทูลฯ พระนางไปว่าอยากจะขอให้องค์จักรพรรดิได้ทรงอยู่ในนครปักกิ่ง เพื่อให้ชาวจีนได้มีกำลังใจสู้กลับกับแปดชาติที่รุกราน (อันนี้เหมือนนิยายไปหน่อย แต่อ่านเพลินดี) เมื่อพระนางทรงได้ยินดังนั้นก็ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก จึงรับสั่งให้ “ชุยอวี้กุ้ย” ขันทีคนสนิท พาเหล่าขันทีจับพระสนมเจินเฟยโยนลงบ่อน้ำด้านหน้าตำหนักหนิงโซ่วกง (ผมจำได้ว่าเคยไปชมบ่อน้ำที่ว่านี้อยู่) จนสิ้นใจในบ่อน้ำนั้น จากนั้นพระนางก็มีรับสั่งให้เผาทำลายข้าวของทั้งหมดของนาง รวมทั้งภาพถ่ายจำนวนมากที่นางเคยถ่าย ปัจจุบันจึงเหลือภาพของพระสนมเจินเฟยเพียงภาพเดียว (ภาพปกที่เห็นอยู่นี่เอง)

ผ่านไปราวปีครึ่ง พระนางซูสีไทเฮาก็เชิญเสด็จฯ จักรพรรดิกวงซวี่กลับนครปักกิ่ง พร้อมรับสั่งให้งมศพของพระสนมเจินเฟยขึ้นมาฝังที่ “เอินจี้จวง” ซึ่งเป็นสุสานสำหรับขันทีหรือนางกำนัล ดังนั้นการฝังศพของพระสนมไว้ ณ ที่แห่งนี้จึงเป็นการหลู่เกียรติ อันเป็นการลงโทษในฐานความผิดครั้งสุดท้ายของพระสนมเจินเฟินแม้จะสิ้นชีพไปแล้วก็ตาม

‘พระสังฆราช (ศรี)’ สมเด็จพระสังฆราช 2 กรุง ผู้ยึดมั่นในความสัตย์แห่งบรรพชิต เพื่อมุ่งสู่อเสขภูมิอันแท้จริง

ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระภิกษุนามว่า “พระอาจารย์ศรี” แห่งวัดพนัญเชิง ได้หนีภัยสงครามไปพำนักอยู่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๒ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เสด็จฯ ไปตีเอาเมืองนครศรีธรรมราช ได้พบพระอาจารย์ท่านนี้ นัยว่าเนื่องจากพระอาจารย์ศรีเป็นผู้แตกฉานในบาลี รู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมคำสอนทั้งหลายเป็นที่ยอมรับ จึงได้นิมนต์ท่านให้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นวัดสำคัญคู่กรุงธนบุรี ก่อนจะทรงสถาปนาเป็นพระอาจารย์ท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี

แต่ทว่าสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) นั้น ทรงได้พบเคราะห์กรรมใหญ่หลวงใน พ.ศ. ๒๓๒๔ ช่วงปลายกรุงธนบุรี ตามบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นจากพระราชปุจฉาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง 

เรื่องนี้นับมาจากครั้งเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้ราวปี พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเริ่มต้นเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ โดยทรงทำบุญแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐาน มีบันทึกไว้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังนี้

“เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะพระปีติทั้งห้าจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดนั้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป อนึ่ง ขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า” ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีเหตุแห่งปาฏิหาริย์อย่างต่อเนื่องจนพระองค์เชื่อว่าพระองค์ทรงบรรลุโสดาบัน !!! และนั่นคือปัจจัยหนึ่งแห่งเหตุวุ่นวายในปลายรัชกาล

จากพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคร่ำเคร่งทำกรรมฐาน จนเข้าใจว่าทรงบรรลุเป็นพระอริยบุคคล จึงทรงมีปุจฉาถามพระผู้ใหญ่หลายๆ รูปว่า พระสงฆ์จะไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันได้หรือไม่ ? 

มีพระผู้ใหญ่สองรูปคือ พระรัตนมุนี (แก้ว) กับพระวันรัตน์ (ทองอยู่) ถวายพระพรว่า พระสงฆ์ไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบัน “ได้” จึงทำให้ทรงโปรดพระสงฆ์สองรูปนี้มาก ส่วนพระผู้ใหญ่ ๓ รูปที่ถวายพระพรว่า “ไม่ได้” ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)  พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ) ประกอบเหตุตามหลักในพระพุทธศาสนาความว่า

“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”

จากข้อวิสัชชนาดังกล่าวทำให้ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมๆ กับพระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ถูกถอดมาเป็นพระอนุจร แล้วนำไปเฆี่ยน และให้ไปใช้แรงงาน ณ วัดหงส์รัตนาราม โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระโพธิวงษ์ (ชื่น) วัดหงส์รัตนารามขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแทน

ขออธิบายเรื่อง พระโสดาบันเพศคฤหัสถ์ ทำไม ? จึงยังต้องไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนซึ่งเป็นเพศบรรพชิต โดยผมขอยกเหตุผลมาจากมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ทรงมีปุจฉาถามพระนาคเสนเมื่อปุถุชนบรรลุโสดาบัน เหตุใดบรรพชิตจึงไม่ไหว้ปุถุชนผู้นั้นทั้ง ๆ ที่ได้บรรลุแล้วซึ่งโลกุตรธรรม ?  โดยพระนาคเสนได้วิสัชชนาเรื่องนี้ไว้ว่า 

“เพศบรรพชิตอันเป็นสมณะนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติภายใน ๒๐ ประการคือ ๑.) เสฏฐภูมิสโย เป็นผู้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐ ประกอบด้วยกรุณา และความสัตย์เป็นต้น ๒.) อคฺโคนิยโม คือ นิยมในกิจอันประเสริฐ ๓.) จาโร มีความประพฤติชอบ ๔.) วิหาโร มีวิหารธรรมและอิริยาบถอันสมควร ๕.) สญฺญโม สำรวมอินทรีย์ ๖.) สํวโร สำรวมในปาฏิโมกข์สังวรศีล ๗.) ขนฺติ ความอดทน ๘.) โสรจฺจํ ความเป็นผู้สงบเสงี่ยม ๙.) เอกันตาภิรติ ยินดีในธรรมเป็นอันแท้ ๑๐.) เอกันตจริยา ประพฤติธรรมเที่ยงแท้ ๑๑.) ปฏิสลฺลินี มีปกติเข้าที่หลีกเร้น ๑๒.) หิริ มีความละอายบาป ๑๓.) โอตฺตปฺป มีความเกลียดกลัวบาป ๑๔.) วิริยํ มีความเพียร ๑๕.) อปฺปมาโท มีความไม่ประมาท ๑๖.) อุทฺเทโส บอกกล่าวเล่าเรียนบาลี ๑๗.) ปริปุจฺฉา เล่าเรียนบอกกล่าวอรรถกถา ๑๘.)สีลาภิรติ ความยินดีในคุณธรรมมีศีล ๑๙.) นิราลยตา ความไม่มีความอาลัย และ ๒๐.) สิกขาปทปาริปูรี เป็นผู้บำเพ็ญสิกขาบทให้เต็มบริบูรณ์ ซึ่งในสุดท้ายนี้ยังประกอบด้วยเครื่องหมายภายนอกของผู้เป็นสมณะ ได้แก่ ภณฺทาภาโร เป็นผู้ทรงผ้ากาสาวพัตร และมุณฺฑภาโว เป็นผู้มีศีรษะโล้น” 

โดยพระนาคเสนอธิบายเพิ่มเติมว่าสมณะประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เต็มบริบูรณ์แล้ว ไม่ขาดตกบกพร่อง กำลังดำเนินไปเพื่ออเสขภูมิ เพื่อพระอรหัตผล ภิกษุเหล่านั้นอยู่ ในฐานะเสมอด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ แต่อุบาสกผู้โสดาบันไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายมีสิทธิฟังพระปาฏิโมกข์ แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีสิทธิ ภิกษุมีสิทธิเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคง แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีสิทธิเช่นนั้น ภิกษุมีสิทธิและหน้าที่ในการรักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนั้น... พระนาคเสนได้ยกตัวอย่างประกอบเพิ่มเติมว่า “เหมือนเจ้าชายผู้ได้ศึกษา ศิลปวิทยายุทธจากปุโรหิตาจารย์ประจำราชสกุล ต่อมาแม้เมื่อเจ้าชายนั้นได้รับ พระบรมราชาภิเษกเป็นพระราชาแล้ว ก็ยังคงเคารพปุโรหิตนั้นในฐานะเป็นอาจารย์อยู่อย่างเดิม” 

เพราะฉะนั้น การไหว้ จึงไหว้ด้วยความเหมาะสม ไม่ได้ไหว้ ไปเจาะจงที่ตัวบุคคล เป็นสำคัญ แต่ไหว้ในความประเสริฐของเพศบรรพชิตเป็นสำคัญ จบคำอธิบายไว้ตรงนี้ แล้วกลับมาเรื่องของ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) กันต่อ 

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์รัตนาราม ลงเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี โดยทรงมีพระปรารภว่า "มีความรู้มาก เสียดายแต่ว่ามีสันดานสอพลอ" ทรงมีดำรัสว่า 

“สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งขึ้นใหม่นั้นก็เป็นพวกอาสัตย์สอพลอพลอยว่าตาม นายแก้ว นายทอง อยู่ไปมิได้เป็นต้นเหตุ แต่รู้พระไตรปิฎกมาก เสียดายอยู่ อย่าให้สึกเลย และที่พระวันรัตนั้นว่างอยู่หาตัวมิได้ จึงโปรดตั้งให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่พระวันรัต ซึ่งรองจากสมเด็จพระสังฆราช” 

รับสั่งให้ พระรัตนมุนี (แก้ว) สึกจากพระ แต่ยังทรงเมตตาให้เข้ารับราชการเป็น “พระอาลักษณ์” เป็นผู้ขนานพระนามพระองค์เจ้าต่างกรม  ส่วนพระวันรัต (ทองอยู่) ให้สึกจากพระ แล้วโปรดเกล้า ฯให้ไปเป็น “หลวงอนุชิตพิทักษ์” อยู่ในกรมมหาดไทย 

ส่วนพระราชาคณะทั้งปวงนั้น ที่เออออไปด้วยกลัวพระราชอาชญาจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น แต่ที่พระธรรมโคดมนั้นต้องกับพระสัพพัญญูเจ้า จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ โปรดให้พระเทพกวีเลื่อนขึ้นเป็นที่พระธรรมอุดม ให้พระธรรมโฆษาวัดปากน้ำ เป็นพระเทพกวี ให้มหานากเปรียญเอก วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้มหาเรืองข้าหลวงเดิมวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) เป็นพระเทพมุนี ให้มหาเกสรเปรียญโทวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) เป็นพระญาณสิทธิ์ ฯลฯ

จากนั้นก็โปรดสถาปนาพระอาจารย์ศรี วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ขึ้นดำรงสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรมนั้น ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณศักดิ์ และตำแหน่งดังเดิม พร้อมให้กลับไปครองวัดเก่าที่เคยสถิต 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงมีพระดำรัสสรรเสริญว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ นี้มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีภายหน้า จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ว่าอย่างไรแล้ว พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้” 

ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) และวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) เข้ามารับบิณฑบาตในพระราชวังทั้ง ๒ พระอาราม ให้ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน เป็นนิจกาล ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไปปลูกเป็นกุฎีถวายสมเด็จ ฯ พระสังฆราช (ศรี) 

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) หลังจากได้ครองสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หนที่ ๒ ก็เป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในช่วงสร้างกรุง พระองค์มีกรณียกิจสำคัญในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของสยามประเทศ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่วัดนิพพานาราม แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้ สมเด็จฯ เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส และพระธรรมไตรโลก (ชื่น) เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก โดยสังคายนาที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุฯ) ใช้เวลา ๕ เดือน จึงแล้วเสร็จ

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงทรงดำรงตำแหน่งหนที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ จนกระทั่งประชวรถึงสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๖ เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๓๗ รวมระยะเวลา ๑๒ ปี

ปลดล็อกการค้าสร้างเศรษฐกิจสยามเฟื่องฟู ไม่ผูกขาดดังคำปดของคนรุ่นใหม่

ในช่วงเวลาแห่งการปกครองโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า นั้น ประเทศสยามได้ผ่านความยุ่งยากของการสร้างบ้านแปงเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผ่านยุครุ่งเรืองแห่งวรรณกรรม ภาษา การฟื้นฟูวัฒนธรรม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และแม้ว่าในยุครัชกาลที่ ๓ จะมีสงครามอยู่บ้าง อาทิ สงครามข้างเจ้าอนุวงศ์ สงครามพิพาทกับทางข้างญวณ แต่ในยุคของพระองค์เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการค้าขายและ Cross Culture โดยแท้ 

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒ ที่เกิดจากเจ้าคุณจอมมารดาเรียม (สถาปนาเป็นที่ 'สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย' ในรัชกาลที่ ๓) ด้วยความที่พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์โต อีกทั้งทรงละม้ายคล้ายในหลวงรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง กอรปกับพระองค์ทรงมีความสามารถ เฉลียวฉลาดสามารถช่วยราชกิจของพระราชบิดาได้อย่างหลากหลาย จนเมื่อมีการตั้งเจ้านายเพื่อทรงกำกับราชการกรมสำคัญ ๆ ในการบริหารราชการส่วนกลางโดยมีฐานะเป็นผู้กำกับกรมคู่ไปกับเสนาบดีเดิม รัชกาลที่ ๓ ในขณะที่พระองค์ยังทรงเป็น 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' พระองค์ได้ทรงกำกับดูแลกรมสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของสยามในเวลานั้นเลยทีเดียว เริ่มจากทรงกำกับ 'กรมพระคลังมหาสมบัติ' ดูแลทรัพย์ที่เป็นเส้นเลือดหลัก จากนั้นก็เพิ่มเติมไปกำกับ 'กรมท่า' ซึ่งดูแลหัวเมืองชายทะเลทั้งหลาย กำกับการติดต่อกับชาวต่างชาติ และกำกับการแต่งเรือสำเภาไปค้าขายเรียกได้ว่าไม่เก่งทำไม่ได้ 

'เจ้าสัว' ของพ่อ ความเก่งกาจฉลาดปราดเปรื่องเป็นที่เลื่องลือ ทั้งข้าราชบริพาร และพระประยูรญาติ ทราบถึงคำชมเชยที่ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงโอรสพระองค์นี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อทรงกำกับราชการกรมท่า พระองค์ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศ ทำให้สยามมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอย่างมาก จนพระราชบิดาทรงเรียกพระองค์ว่า 'เจ้าสัว' 

จากการที่ทรงกำกับหน่วยงานสำคัญจึงเป็นปัจจัยให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมราชชนกได้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ทรงเก่งสุด ๆ อาวุโสได้ ที่สำคัญคือได้รับการยอมรับจากบรรดาเชื้อพระวงศ์ เหล่าขุนนางทั้งหลาย ให้ขึ้นครองราชย์ที่เรียกว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” โดยหลังจากทรงครองราชย์แล้วก็ทรงปรับปรุงการค้าขาย การเก็บภาษี กฎหมาย พัฒนาสยามไปในหลายทาง 

กอบกู้เศรษฐกิจด้วยการค้า ปรับปรุงระบบภาษี ส่งเงินเข้าพระคลังหลวง 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ต้องยอมรับว่าในเวลานั้น สยามยังอยู่ในภาวะขาดแคลนทรัพย์ เนื่องจากครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการสร้างบ้านแปงเมือง ประกอบกับการปราบปรามอริราชศัตรูให้ราบคาบ เมื่อเป็นดังนี้เมื่อบ้านเมืองเริ่มสงบการหาทรัพย์มาเพื่อเป็นทุนสำรองของบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จึงได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาเพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง จากเดิมที่ระบบภาษีทั้ง จังกอบ อากรฤชา ส่วย ภาษี เงินค่าราชการจากพวกไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน ยังเก็บได้ไม่ชัดเจน พระองค์จึงทรงเริ่มปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้า และแรงงานให้กลายมาเป็นการชำระด้วยเงินตรา พร้อมกำหนดรายการภาษีใหม่ ๓๘ รายการ

พระองค์ทรงตั้งระบบการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมูลรับเหมาผูกขาด ไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง เรียกว่า “เจ้าภาษี” หรือ “นายอากร” ซึ่งส่วนใหญ่ชาวจีนจะเป็นผู้ประมูลได้ การเก็บภาษีด้วยวิธีการนี้ ทำให้เกิดผลดีหลายประการ โดยเฉพาะด้านตัวเลขเพราะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เกิดการค้าขายที่มีระบบมากขึ้นเพราะมีกำหนดอัตราตามค่าเงิน ทำให้สามารถเก็บเงินเข้าพระคลังมหาสมบัติได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังส่งผลดีทางด้านการเมือง เพราะทำให้เจ้าภาษีนายอากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวจีนนั้นมีความผูกพันกับสยามในฐานะข้าราชการมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และแผ่นดินสยามอย่างยิ่งยวด 

เปิดประเทศค้าขายต่อเนื่อง ยกเลิกการผูกขาด
นอกจากรายได้จากการเก็บภาษีแล้ว รายได้เข้ารัฐยังมาจากการค้าขายกับต่างประเทศ โดยนำระบบภาษีหลายชั้นมาใช้ในขาเข้าคือภาษีเบิกร่อง และภาษีขาออก ในเริ่มแรกก่อนครองราชย์มาจนช่วงต้นของการครองราชการค้ากับต่างชาติยังมีสินค้าบางอย่างที่ยังผูกขาดอาทิ  ครั่ง ไม้ฝาง งาช้าง การบูร และพริกไทย อีกทั้งผูกขาดในส่วนของสินค้าที่ใช้บรรทุก ในสําเภาหลวงจํานวนมากทำให้การค้าขายยังจำกัด 

ด้วยความเชี่ยวชาญในการส่งเรือสินค้ามาตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงยกเลิกนโยบายผูกขาดสินค้า ปล่อยให้มีการค้าเสรี โดยการตัดสินใจเป็นของพระองค์เอง มิได้ทรงผูกพันกับสนธิสัญญาใด ๆ ดังที่มีนักวิชาการฝรั่งหลายคนเคยกล่าวไว้ ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายของชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง ซึ่งมีไปถึงนายครอว์เฟิร์ดที่สิงคโปร์ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ความว่า

“ทันทีที่เจ้านายพระองค์นี้เสด็จขึ้นสู่ราชบัลลังก์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาสั่งอนุญาตให้ทุกชาติที่มาเยี่ยมสยามได้ขายและซื้อ นําออก และนําเข้า กับประชาราษฎรทุกคนที่ตนคิดว่าสมควร โดยไม่มีข้อขัดขวาง เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรเท่านั้น สิ่งนี้ได้ทําไปโดยไม่มีการวิวาทกับ พวกขุนนางเลย” (ยกเว้นขุนนางบางตระกูลที่เสียผลประโยชน์จากการยกเลิกการผูกขาดอาจจะมีการมองค้อนแต่ทำอะไรไม่ได้) 

ซึ่งการค้าเสรีนี้ได้สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพมั่นคง และรายได้นี้ได้นำไปใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง การป้องกันประเทศ การศาสนา และด้านอื่นๆ ทั้งยังเป็นทุนสำรองของสยามทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและในรัชสมัยต่อ ๆ มา โดยรายได้ของแผ่นดินในรัชกาลที่ ๓ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยบางปีมีรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมากกว่า ๒๐ ล้านบาท

สนธิสัญญาเบอร์นี เปิดโอกาสชาติอื่นร่วมค้าขาย
'เฮนรี เบอร์นี' ทูตชาวอังกฤษได้เดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทางด้านการค้า รัฐบาลอังกฤษประสงค์ขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับรัตนโกสินทร์ และขอความสะดวกในการในการค้าได้โดยเสรี ซึ่งการเจรจาได้ผลสำเร็จอันดี โดยมีการลงนามในสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๙

สนธิสัญญาเบอร์นี ประกอบด้วย สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ๑๔ ข้อ และสนธิสัญญาทางพาณิชย์ แยกออกมาอีกฉบับหนึ่ง รวม ๖ ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า อาทิ ข้อ ๕ ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่างๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ ๖ ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย ข้อ ๗ ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือน และเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง ข้อ ๑๐ ว่าด้วยการทำการค้าในบางดินแดนของกลุ่มคนในสังกัดของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องเป็นไปโดยไม่มีข้อจำกัด เป็นต้น 

ส่งออกเติบโต เรือเทียบเต็มท่า 
นอกจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่กับอังกฤษเพื่อการเปิดเสรีทางการค้าแล้วนั้น สยามยังมีการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป มีการลดค่าปากเรือลง จากวาละ ๑,๗๐๐ บาท เหลือ ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ของไทยสยามในการสนับสนุนการค้าของชาวต่างชาติให้รุ่งเรืองในประเทศทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นมีการเก็บค่าปากเรือสูงถึง ๒,๒๐๐ บาท ทำให้การค้าระหว่างพ่อค้าตะวันตกและไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเรือกําปั่น เข้ามาจอดที่บางกอกเพื่อนําสินค้าของสยามออกไปขาย ในพ.ศ. ๒๓๘๕ มีรายงานว่ามีเรือกําปั่นเข้าเทียบท่า ไม่น้อยกว่า ๕๕ ลํา โดยส่วนใหญ่ เป็นเรือกําปั่นที่ชักธงอังกฤษ ในจํานวนนี้มีอยู่ ๙ ลําที่เข้าเทียบท่าบางกอกเป็นประจําทุกปี และถ้าไม่นับที่มาจากอังกฤษโดยตรง ๓-๔ ลําแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรือกําปั่นมาจากบอมเบย์ สิงคโปร์ หรือจีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็บรรทุกน้ำตาลออกไป ซึ่งปริมาณการส่งออกในช่วงปีนั้นมีมากถึง ๑๑๐,๐๐๐ หาบทั้งนี้ยังไม่รวมการส่งออกโดยเรือพาณิชย์ของรัฐกว่า ๑๔ ลำ รวมไปถึงเรือพาณิชย์ของขุนนางกว่า ๑๐ ลำ 

แต่ต้องยอมรับนอกเหนือไปจากการลงนามทางการค้าในสนธิสัญญาเบอร์นี่แล้วนั้น การค้าในฟากของชาติตะวันตกนั้นยังแฝงไปด้วยเรื่องทางการเมือง การล่าอาณานิคม และการเข้าแทรกแซงกิจการอื่น ๆ เพราะประเทศรอบข้างสยามในขณะนั้นกำลังเริ่มถูกคุกคาม ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้ส่งเสริมการงานฟากตะวันตกอย่างเอิกเกริกนัก ทั้งยังทรงระแวดระวังมิให้สยามตกอยู่ในฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทั้งการค้า และการเมืองดังที่ได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งไว้ว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสกันทีเดียว” 

เพราะนอกเหนือจากการค้าเสรีที่เฟื่องฟูในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ แล้ว การล่าอาณานิคมที่ไม่เสรีก็ตามติด ๆ มาในอีกไม่นานหลังจากนั้น

จมในละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ ภาพสะท้อนจากอดีต ด้วยความคิดเอาแต่ได้

ในวันที่ผมนั่งพิมพ์เรื่องจริง เรื่องนี้อยู่ กรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยคงพ้นจากวิกฤติฝุ่น PM2.5 กันไปบ้างแล้วหลังจากเผชิญหน้ากันมาเกือบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอิทธิพลของลมกำลังแรงพัดมาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อุณหภูมิลดลง และฝุ่นพิษถูกพัดไปทางด้านประเทศเมียนมา 

ในประวัติศาสตร์ โลกของเราได้เผชิญปรากฏการณ์จากละอองฝุ่นควันพิษมาแล้วหลายครั้ง โดยฝุ่นและควันพิษเหตุแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น บันทึกของชาวบาบิโลเนียนกว่า 2,500 ปี ระบุว่าพวกเขาเผาน้ำมันแทนไม้ ชาวจีนในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติ แต่ชาติที่ต้องเผชิญมหันตภัยจากฝุ่นพิษอย่างหนักหน่วงที่สุดชาติแรกในโลกคือ สหราชอาณาจักร 

ต้องยอมรับก่อนว่าในฤดูหนาวนั้นสหราชอาณาจักรค่อนข้างสาหัสพอสมควร การเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นหรือประโยชน์ในด้านพลังงานอื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น จนกระทั่งพวกเขาได้มารู้จักถ่านหินซึ่งให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ แต่ใช่ว่าในเบื้องแรกพวกเขาจะไม่ตระหนักถึงหมอกควันที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพราะมีบันทึกว่าในปี ค.ศ. 1272 ได้มีประกาศจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ห้ามเผาถ่านหินเนื่องจากหมอกและควันที่เกิดขึ้นนั้นสร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชาวลอนดอน โดยคาดโทษถึงประหารชีวิต แต่นั่นก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง เพราะประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น 

จนมาในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักร ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เพราะในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินคือพลังงานปัจจัยหลักที่อยู่ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ผสมกับภาพปกติของกรุงลอนดอนนั้นมักจะถูกหมอกปกคลุมทั่วเมืองเป็นที่คุ้นเคย ยิ่งอากาศหนาวเย็นลงเท่าไหร่ บ้านเรือนต่าง ๆ ก็โหมใช้ถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการนำเอาถ่านหินคุณภาพต่ำมาใช้กันเป็นวงกว้าง ซึ่งถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในปริมาณสูง และยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ รวมไปถึงสารพิษต่างๆ เมื่อหมอกผสานกับละอองฝุ่นพิษจึงไม่เป็นที่สนใจหรือระแวดระวัง เพราะมันค่อย ๆ สะสมที่ละเล็กน้อยยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน อีกทั้งละอองฝุ่นและหมอกควันพิษตามปกติก็จะลอยไปในอากาศ ก่อนจะถูกลมพัดพาไปที่อื่น 

จนมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ลอนดอนในเวลานั้นต้องเผชิญกับภาวะความกดอากาศสูง 'anticyclone' ก่อให้เกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนถูกดันขึ้นด้านบน แทนที่ด้วยอากาศเย็นที่ควบแน่นไอน้ำเกิดเป็นหมอก ปกคลุมกรุงลอนดอนเหมือนถูกครอบด้วยโดมขนาดใหญ่ ด้านบนก็ไม่มีลมพัด ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ทำให้เกิดอนุภาคคงค้างอยู่ในอากาศผสมกับหมอกปกติเกิดเป็นหมอกฝุ่นพิษสีอมเหลืองที่เรียกว่า 'หมอกซุปถั่ว' (Pea-Soupers) ที่สร้างปัญหาทางระบบหายใจให้ผู้คนในลอนดอน อีกทั้งยังเกิดเป็นหมอกปกคลุมจนลดวิสัยทัศน์เหลือเพียงแค่การมองเห็นเพียงไม่กี่เมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 เพียงแค่ 5 วัน แต่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า 'Great Smog of London' ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี 

'Great Smog of London' เกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ว่ากันว่าก่อนจะเกิดเหตุ เอกสารรายงานที่เตือนถึงสถานการณ์ไม่ได้ถูกส่งถึงเชอร์ชิล แต่กลับถูกส่งไปยังผู้นำฝ่ายค้านโดยหนึ่งในทีมงานเลขาที่เปหนอนบ่อนไส้ของเชอร์ชิล เพื่อหวังจะใช้โจมตีเขาให้ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นเขาอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังกุมอำนาจการบริหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเอาสถานการณ์นี้มาใช้ลดแรงสนับสนุนจึงเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเฒ่าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะนักการเมืองในสภา บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามซ้ำเติมด้วยการโจมตีของสื่อ และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ว่าตัวเขาน่าจะแก่จนทำให้เชื่องช้า เงอะงะ เกินกว่าจะมาแก้ไขสถานการณ์แล้วกระมัง 

แต่มีเรื่องเล่ากันว่าหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนของเชอร์ชิลได้หายหน้าไปจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเขาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และบางคนได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทีมเลขาของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุ เขาจึงได้เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพื่อไปให้เห็นกับตาว่าเจ้าฝุ่นพิษจากหมอกควันที่เขามองว่าธรรมดานั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดมหันตภัยกับผู้คนจริงหรือไม่? 

นับว่าการตัดสินไปโรงพยาบาลของเชอร์ชิลในครั้งนั้นได้ตอบคำถามให้กับเขา เพราะเขาได้ไปพบความโกลาหลของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการสูดละอองฝุ่นพิษเข้าไป และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุบัติเหตุ การปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงร่างของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่จำนวนมาก จากภาพที่ประสบต่อหน้า ทำให้เขาตัดสินใจแถลงข่าวในทันที โดยเขาได้สั่งการให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศชั่วคราว ปิดโรงเรียน และหยุดสถานประกอบการในบางส่วนเพื่อให้ลดการสูญเสีย 

อ่านกันเพลิน ๆ เหมือน วินสตัน เชอร์ชิล จะเป็นฮีโร่ ซึ่งในข้อมูลหลายชุดก็ไม่ได้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่านนี้รู้หรือไม่รู้ถึงปัญหา ถ้าไม่รู้ก็น่าจะพิจารณาได้จากปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่กลับเลือกที่จะเมินเฉยเพราะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ถ้ารู้ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับนี้เขาน่าจะรู้เรื่องของละอองฝุ่นและหมอกควันพิษมาตั้งแต่เริ่ม แต่กำลังดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไปแก้ไขแล้วแก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเป้าของนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเอาสุขภาพของประชาชนมาเป็นตัวประกัน หรือถ้าสถานการณ์มันคลี่คลายไปก่อนที่เขาจะทำอะไร ก็เท่ากับไปสร้างปัญหากับเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สรุปคือเมื่อเวลาสุกงอมจนได้ที่เขาก็เลยมาจัดการปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาจัดการคือเรื่องของ 'จิตใจ' ที่จัดการด้วยธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่ 'ละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ' ที่เขาน่าจะรู้แล้วว่า 'ลม' จะมาจัดการให้หายไป 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมาย Clean Air Act (1956) เพื่อควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน จำกัดการเผาถ่านหินในเขตเมือง ส่งเสริมการให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก แต่กระนั้นผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สั่นคลอนเสถียรภาพด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี

ฟุตบอลเด็กไทย จะไปทางไหน? เมื่อพ่อแม่ -โค้ชหวังแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจผลที่จะได้รับ

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษารวมกว่า 10 สถาบัน โดยเจ้าภาพในปีนี้เป็นสถาบันที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ผมไปในฐานะของผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลระดับประถมศึกษาตอนต้น เนื่องด้วยตัวเองคลุกคลีกับฟุตบอลเด็กมาในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ยาวนานนัก แต่ด้วยความเป็นนักกีฬา และทำโครงการกีฬามามากทำให้สามารถดูแลได้ประมาณหนึ่ง 

ในมุมของฟุตบอลเด็ก ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาในครั้งนี้ ด้วยความที่เป็นคนทำโครงการกีฬา และกำลังดำเนินการจัดตั้งอคาเดมี่ฟุตบอลสำหรับพัฒนาเด็กอายุ 6-12 ปี ผมจึงมีข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับ รูปแบบการสอน กฎกติกา ความเหมาะสมของช่วงวัย พัฒนาการของช่วงวัยตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมด้วยความร่วมมือจากผู้ฝึกสอนที่มีใบอนุญาตฝึกสอนในระดับต่าง ๆ หลายท่าน อีกทั้งรายชื่ออคาเดมี่ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนกว่า 600 รายชื่อ ก่อนจะไปเรื่องอื่น ๆ เรื่องตรงนี้ผมเกิดคำถามขึ้นมาที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ รายชื่ออคาเดมี่ที่มีอยู่ มีกี่อคาเดมี่ที่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเองจริง ๆ (ไม่ว่าจะเช่าหรือเป็นเจ้าของเอง) เพราะในบางอคาเดมี่ตามรายชื่อไม่มีสนามฝึกซ้อม มีแค่ตัวโค้ชกับทีมงาน อันนี้ก็แปลกดี 

อีก 1 คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อคาเดมี่ที่เปิดกันอยู่ในประเทศไทยมีอีกกี่อคาเดมี่ที่ไม่ลงทะเบียนกับสมาคม ฯ จากการประเมินผมตอบคำถามได้เลยว่าน่าจะมีหลักพัน เพราะอะไร ? ก็เพราะในสนามฟุตบอลเช่าจะมีโค้ชที่สอนประจำอยู่ โดยไม่ได้อ้างอิงระบบอคาเดมี่ แต่ใช้สถานที่เป็นตัวตั้งและจับโค้ชใส่เข้าไป ซึ่งก็มีการฝึกสอนเด็ก ๆ อยู่จำนวนมาก และแน่นอนเป็นการเสียเงินเพื่อเรียนฟุตบอล 

ด้วยระบบที่ดีของสมาคม ฯ ตามที่ผมได้เข้าไปศึกษา ผมยินดีมาก ๆ ที่เราได้เดินทางมาอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และต้องการให้การสร้างรากฐานฟุตบอลเด็กได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการจับมือกับ FIFA แล้วสร้างโปรแกรมให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งดีมาก ๆ แต่ทว่า วันนี้การพัฒนารูปแบบนี้กลับกำลังถูกเมินเฉย และค่อยๆ ถูกเซาะกร่อนด้วยการหวังผลลัพธ์แห่งชัยชนะที่เร็วเกินวัยจาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และอคาเดมี่ (หรือโค้ช) บางส่วน ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญก็คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลเด็กที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในปัจจุบัน ทำให้ความหวังผลเลิศอันเกิดขึ้นจากการเสพติดชัยชนะบ่มเพาะให้เกิดการสอนฟุตบอลเกินวัย เทคนิคเกินเด็ก และการเล่นอันตรายถูกนำมาสอนมากขึ้น  

กลับมาที่การแข่งขันกีฬาที่ผมไปเข้าร่วมดีกว่า เพราะน่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้บนหน้าอกของเด็ก ๆ คือสถาบันการศึกษา ความเป็นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนการแข่งขันเพื่อชัยชนะก็เข้มข้น ซึ่งก็จริงดังคาด การแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจัง แต่ความจริงจังนั้นเป็นไปอย่างน่าชื่นใจ เพราะทีมฟุตบอลเด็กจำนวนมากเล่นกันเป็นระบบ มีความสามารถเฉพาะตัวที่เก่งกาจ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความตั้งใจของตัวเด็ก และการฝึกสอนที่มีคุณภาพ ไม่แปลกใจที่ทีมชนะเลิศจะได้เพราะเขาสามารถรวมเอาระบบ และความสามารถของเด็กมาไว้ด้วยกันได้ แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ทีมชนะเลิศครับ มันอยู่ที่ทีมเด็กทีมหนึ่งซึ่งใช้ทักษะเกินวัย และเป็นเทคนิคเสี่ยงบาดเจ็บ

ปกติเด็กในวัยประถมศึกษาคือช่วงประมาณอายุ 6 – 12 ปี นั้นทักษะหนึ่งที่มักจะห้ามใช้กันก็คือการ 'สไลด์บอล' ทำไม ? ถึงห้าม เราลองมานึกตามกันนะครับ การสไลด์บอลคือการป้องกันที่ถือว่าอันตรายในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นในระดับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเมื่อเด็กสไลด์ขาไปบนสนามหญ้าร่างกายจะมีส่วนของการสัมผัสพื้นค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องใช้แรงบังคับทิศทางไปยังเป้าหมายคือลูกฟุตบอลที่อยู่กับเท้าของฝั่งตรงข้าม ซึ่งแน่นอนการบังคับผลให้เกิดไม่สามารถทำให้ใกล้เคียงกับนักฟุตบอลผู้ใหญ่แน่นอน ถ้าการสไลด์สำหรับนักฟุตบอลผู้ใหญ่มีผลสำเร็จอยู่ที่ 70 – 80 % โดยไม่ฟาวล์หรือบาดเจ็บ แล้วนักฟุตบอลเด็กคุณคิดว่ามันจะมีผลสำเร็จอยู่ที่เท่าไหร่ ? สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมีอยู่หลายทาง ทางแรกคือโดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งกระโดดหลบได้ ป้องกันได้สำเร็จ ทางที่สองคือโดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ จังหวะล้มคู่แข่งลงมาทับพอดี เสียฟาวล์ ทางที่สามคือไม่โดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ เสียฟาวล์ ทางที่สี่ไม่โดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่งแต่ “คู่แข่งกระโดดหลบแล้วลงมาทับหรือเหยียบ” คนสไลด์บาดเจ็บ ทางที่ห้าสไลด์แล้วไม่โดนอะไรเลย ป้องกันไม่ได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกหลายทาง อีกทั้งการสไลด์ข้างหลัง ด้านข้าง ด้านหน้า และเปิดปุ่มสตั๊ด มันยังสามารถเกิดประเด็นได้อีกมากมาย คำถามคือกับเด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่เราเรียกกันว่ายุวชน มีความคิดเผื่อไว้หลายชั้นสำหรับผลที่ต้องได้รับขนาดนั้นหรือไม่ ? คำตอบ 100% คือ “ไม่” 

ทำไม ? โค้ชในอคาเดมี่บางแห่งถึงได้สอนเด็ก ๆ สไลด์บอล ก็อาจจะตอบได้แบบสวย ๆ ว่า เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงเทคนิคนี้ เพราะต่อให้ตนไม่สอนเด็ก ๆ เมื่อไปดูการแข่งขัน หรือดูใน YouTube ก็ต้องนำเอามาใช้แน่นอน คำตอบนี้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะถ้าสอนเข้าไปลึก ๆ การสไลด์มันมีขั้นตอนทางเทคนิคที่วัย 6 – 12 ปี ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก แต่ที่เด็กกล้านำมาใช้ ผมเชื่อว่าเพราะโค้ชผู้สอนไม่ได้เตือนถึงผลเสียหากนำไปใช้ เพราะโค้ชคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์ที่จะตอบโจทย์ผู้ปกครอง มากกว่าผลที่จะได้รับ เด็กไม่ผิดหรอกครับที่นำมาใช้ แต่ผู้ใหญ่ที่สอนให้ใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบนั่นแหละคือคนผิดตัวจริง 

แต่สไลด์บอลไม่ใช่เพียงเทคนิคเดียวที่ถูกสอนให้นำมาใช้ การใช้ศอก ดึงเสื้อ เตะขา เหยียบเท้า เปิดปุ่ม เข้าเข่า ดึงขา คือภาพที่ผมเห็นมาจากทีมฟุตบอลระดับอคาเดมี่หลายแห่งที่หวังผลเป็นเลิศ เคยเห็นในการแข่งระดับมัธยมก็พอได้พบ แต่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้เห็นจากทีมฟุตบอลโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นในรายการมหกรรมกีฬาระดับประเทศ คำถามคือ “เกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลเด็ก ?”  เราไม่ได้สอนให้เด็กแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกซ้อมแล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้มีทักษะจากเรียนรู้แล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้เขารู้จักเอาชนะคู่แข่งด้วยความสามารถแล้วหรือ 

คำตอบที่ผมตอบได้ประการเดียวก็คือ “ชัยชนะ” เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จำนวนหนึ่ง ที่คาดหวังจากการเรียนฟุตบอลในอคาเดมี่ของลูกตัวเอง ลูกฉันเรียนบอล ลูกฉันต้องชนะ ซึ่งโค้ชบางท่านก็ตอบสนองความต้องการนั้น ด้วยการสอนทุกอย่างที่เด็กในวัยเด็กเดียวกันเขาไม่สอน โดยเฉพาะตามระบบมาตรฐานของสมาคมฯ หรือ FIFA ถ้าลูกคุณสไลด์เอาบอลมาจากคู่แข่งได้อย่างสวยงาม คุณคงดีใจ แต่ถ้าลูกคุณสไลด์ไปเอาบอลโดยที่สร้างรอยแผลไว้ให้กับคู่แข่งล่ะ ลูกคุณไม่เจ็บแต่เด็กที่โดนสไลด์เจ็บ ผมได้ยินเด็กน้อยในทีมถามว่าทำไมเขาสไลด์ได้? ทำไมเขาสไลด์แล้วทำคนอื่นเจ็บได้?  ทำไมผมทำบ้างไม่ได้ ? เด็กที่โดนสไลด์บางคนไม่กล้าเล่นบอลหรือเอาบอลไว้กับเท้า ตามวัยที่เขาต้องเรียนรู้แล้ว เพียงเพราะเขากลัวการถูกสไลด์ กลับกันถ้าคนที่ถูกสไลด์ถูกตอบแทนด้วยการถูกเหยียบ การถูกทับจากคู่แข่งที่เอาศอกลงที่หน้า ที่อก ที่เบ้าตา จะเกิดอะไรขึ้น ? มันจะเป็นรอยแผลในใจของลูกคุณไหม ? อ่าน ๆ ไปแล้วดูมันจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลเด็กครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรายการแบบไหน ก็ไม่สมควรจะเกิด คุณว่าจริงไหม ? 

มาถึงตรงนี้ หากคุณได้ชมฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด คุณเห็นคู่แข่งของทีมชาติไทยไหมครับว่าเขาเข้าบอลกับเราแบบไหน ทัศนคติของเขาเป็นแบบไหน ย้อนกลับมาที่เรา พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อยากให้โค้ชสอนลูกเราให้เป็นแบบนั้นหรือครับ สอนให้ทำร้าย ทำลาย คู่แข่งเพื่อชัยชนะ โดยไม่สนว่าในอนาคตของคู่แข่งจะเป็นอย่างไร ? ฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไร? ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลมันให้อะไรมากกว่ากว่าชัยชนะอีกตั้งมากมาย สิ่งที่ผมนำมาเล่าในตอนนี้คือภาพที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง ขอให้เรากลับมาสนใจผลที่จะได้รับมากกว่าผลลัพธ์กันเถอะครับ ฟุตบอลไทยจะได้ไปต่ออย่างสวยงาม

อย่าให้เจอคำพูดที่ผมเจอจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ณ สนามแข่งขันว่า “ก็แค่เด็กมันเล่นบอลกัน จะอะไรนักหนา” อีกเลยครับ 

เจ้าชายกำมะลอ โอรสผู้สมอ้าง องค์นโรดมและหม่อมเจ้าหญิงแห่งสยาม

เรื่องของเรื่องที่ผมยกเรื่องนี้มาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันเพลิน ๆ นั้น เกิดขึ้นจากการที่ผมได้หยิบเอาหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอ่านเล่น ๆ อีกคำรบ โดยเฉพาะเรื่องของท่านป้า ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ของท่านอาจารย์ ซึ่งหลายท่านน่าจะทราบว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด ทรงหนีไปอยู่เขมร ซึ่งว่ากันว่าการละครในราชสำนักเขมรส่วนหนึ่งก็มาจากพระองค์นำไปเผยแพร่ ซึ่งจะถูกจะผิด จริงเท็จประการใดนั้น ไม่ใช่เนื้อหาในบทความนี้ (ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน “โครงกระดูกในตู้” ผมแนะนำให้ลองหาอ่านดูครับ เล่มเล็ก ๆ ใช้เวลาอ่านไม่นาน) 

เนื้อหาหลักในตอนนี้ก็คือเมื่อครั้ง ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ทรงหนีไปเขมรนั้น มีเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่าพระองค์ได้เป็นเจ้าจอมอีกองค์หนึ่งในสมเด็จพระนโรดมกษัตริย์เขมรในเวลานั้น ถึงขนาดที่มีพระโอรสร่วมกัน (อ้างตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) แต่ทว่าพระองค์เจ้าในที่นี้เมื่อชันสูตรแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีจริง อีกทั้งเรื่องราวการเป็นเจ้าจอมนั้นก็ไม่เป็นจริง แต่กลับปรากฏพระองค์เจ้ากำมะลอที่อ้างตนเป็นเชื่อพระองค์ชั้นสูงของกัมพูชาพระองค์หนึ่งชื่อว่า “พระองค์เจ้าพานดุรี” (พานดูรี/พานคุลี/พานตุคี) 

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในช่วงต้นรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับหนังสือส่วนพระองค์จากพระองค์หญิงมาลิกา ซึ่งในหนังสือนั้นมีเนื้อหาโดยสรุปว่าพระองค์ทรงได้ข่าวว่ามีเจ้านายเขมรเข้ามาตกระกำลำบากอยู่ในหัวเมืองสยาม  จึงใคร่ขอความกรุณาให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ทรงช่วยสืบหา หากว่าเป็นจริง ก็จะทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้านายองค์นั้นสืบไป 

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงช่วยสืบหาเจ้านายที่ว่านั้น ผ่านกระทรวงมหาดไทย ถัดมาอีกสองปีจึงได้รับรายงานจากเจ้าเมืองพิจิตรว่า ได้พบชายเขมรอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อ “พระองค์เจ้าพานดุรี” มารดาเป็นเจ้านายสยามพระนามว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด จึงนำตัวไปสอบสวนพร้อมถ่ายรูปไว้  ก่อนจะส่งเป็นรายงานมาทูลฯ ถวาย พร้อมกับหนังสือฉบับหนึ่งจาก“พระองค์เจ้าพานดุรี” โดยมีเนื้อหาว่า (ขออนุญาตไม่ปรับเป็นภาษาปัจจุบันนะครับ) 

“ขอพระเดชะ ปกเกล้าปกกระหม่อม ขอพระราชทานกราบถวายบังคมทูลกรมพระดำรงราชานุภาพ ขอทราบใต้ละอองธุลี ข้าพระพุฒิเจ้าขอเล่าความตามต้นเนิ่ม เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ หม่อมเจ้าแม่ฉลีวาฏได้ออกจากพระราชอาณาจักรสยามไปที่พึ่งอาไสอยู่ในประเทสเขมร ได้บังเกิดข้าพระพุฒิเจ้าคนหนึ่ง แล้วได้เล่าบอกว่าเป็นพระราชตระกูลในสยาม ตั้งแต่ข้าพระพุฒิเจ้ารู้ความมา ก็ตั้งใจว่าจะทะนุบำรุงชาฏสยามให้อุตตมะชาฏอยู่

บันลุมาถึงรัชการ พระบาทสมเด็จรัชการที่ ๖ ม่อมเจ้าแม่ได้กลับมาอยู่ในสยาม ๑๖ ปีแล้ว ข้าพระพุฒิเจ้าก็ได้ภยายามตามมา หวังใจจะได้พึ่งพระบูรพะโพธิสมภาร ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุฒิเจ้าเกิดมารู้ตัวว่าพระมารดาเกิดเป็นชาฏสยามก็ตั้งใจจะรักษาชาติสยามให้อุตตะมะชาฏ ที่ข้าพระพุฒิเจ้าเข้ามานี่จะได้แคลงคล้าย ยกเนื้อยกตัวดูถูกพระเจตสะดาพระองค์หนึ่งพระองค์ใดก็หามิได้ ประโยถจะสืบหาพระมาดาให้เห็นเท่านั้น แล้วจะไม่ให้ระคายไนพระราชตระกูลสยามด้วย ค้วนไม่ค้วนก็ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรฏ เพราะข้าพระพุฒิเจ้าเป็นคนเขมรเข้ามาใหม่ แล้วไม่รู่ความผิดชอบ
ลงชื่อ Phantugi”

แต่จริง ๆ แล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสืบเรื่องของนายพานดุรีผู้มีนี้มาก่อน เพราะครั้ง ม.จ.ฉวีวาด ทรงกลับมาสยามก็ทรงทราบว่าพระองค์มีบุตรชาย แต่จะเกิดจากผู้ใดไม่ชัดแจ้ง พบแต่เพียงว่าติดคุกอยู่ฝั่งเขมร พอได้เรื่องราวแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงส่งหนังสือไปแจ้งแก่พระองค์หญิงมาลิกา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ทรงได้รับหนังสือของพระองค์หญิงมาลิกา กราบทูลฯ ตอบมาว่า

“ม.จ.ฉวีวาดเมื่อเสเพลไปอาศัยอยู่ในกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมจะได้เลี้ยง ม.จ.ฉวีวาดเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามก็หาไม่  เมื่อหนีตามนายเวนผึ้ง (นายเวร ชื่อผึ้ง) ไปกัมพูชาแล้ว ม.จ.ฉวีวาดได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดมครั้งหนึ่ง ทรงบอกว่าถ้าจะอยู่ในวังท่านก็จะทรงเลี้ยง แต่ม.จ.ฉวีวาดกราบทูลว่าท่านมีครรภ์กับนายเวนผึ้งแล้ว สมเด็จพระนโรดมก็ทรงอนุมัติตามนั้น ม.จ.ฉวีวาดจึงได้อยู่กินกับนายเวนผึ้ง แบบเป็นเมียน้อยเขา เพราะเขามีเมียอยู่ก่อนแล้วถึงสองคน จึงอยู่กับนายเวนผึ้งได้ไม่เท่าไหร่ ก็วิ่งออกไปได้กับออกญานครบาล(มัน) แล้วเสเพลไปได้ออกญาแสรนธิบดี(ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  บังเกิดบุตรชายด้วยกันชื่อ "นุด" ซึ่งตั้งตนเป็น “พระองค์เจ้าพานดุรี” นั่นแหละ เมื่อเด็กชายนุดยังเป็นเด็กอายุ ๖ ขวบ  ม.จ.ปุก (ในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์) พระอัครนารีเอาตัวไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง  ให้บ่าวในกรมเรียกลูกชายม.จ.ฉวีวาดว่า "คุณ" คนอื่นๆ ก็เรียกตามๆกันไป ไพล่ไปได้กับพระพิทักราชถาน(ทอง) เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  ต่อมาพระพิทักราชถานสิ้นชีพไป   ม.จ.ฉวีวาดได้ผัวใหม่  เป็นที่ขุนศรีมโนไมย อยู่กรมกาวัลเลอรีย์ในสมเด็จพระนโรดม  อยู่ด้วยกันเป็นช้านานหลายปี เจ้านุดบุตรชายของ ม.จ.ฉวีวาดกับเจ้าเมืองระลาเปือยนั้นก็อยู่ด้วยกัน....

“นุด” มีบิดาเป็นเจ้าเมืองระลาเปือย ชื่อ “ปัล” เป็นเชื้อเจ๊ก หาเป็นเชื้อเจ้ามิได้ บุตรชาย ม.จ.ฉวีวาดนั้น ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมติดคุกครั้งหนึ่ง  ออกจากคุกพร้อมกันกับคนโทษด้วยกันหลายร้อยคน เมื่อขณะเปลี่ยนแผ่นดินใหม่...ในแผ่นดินพระศรีสวัดในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๒ บุตรชาย ม.จ. ฉวีวาดติดคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่โทษเป็นประการใดกระหม่อมฉันก็ลืมไป จำได้แน่แต่ว่าติดคุกด้วยตั้งตนเป็นโจรกรรมในครั้งแรก ในครั้งหลังดูเหมือนไปตั้งตนว่าเป็นเจ้า วานนี้ได้รับจดหมายลายพระหัตถ์ของฝ่าพระบาทก็จวนเพลานักแล้ว ไปดูบาญชีคุกไม่ทัน วานนี้และวันนี้เป็นวันกำเนิดพระเยซู กระทรวงหยุดทำงาน” 

พอกระทรวงเปิดทำการพระองค์หญิงมาลิกาจึงได้ส่งหนังสือมาเพิ่มเติมอีกโดยมีความว่า 

“ถวายบังโคมยังใต้ฝ่าพระบาท ทรงทราบ กระหม่อมฉันไปขออนุญาตกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุก และสารกรมทัณฑ์ ซึ่งตุลาการตัดสินจากโทษนายนุด บุตรชายของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีนั้น โทษเมื่อแผ่นดินก่อนและแผ่นดินปัจจุบัน ค้นหายังไม่ภพ ภพแต่สำเนาสารกรมทัณฑ์ ศาลอุทรณ์กรุงภนมเพญ เห็นพร้อมตามศาลพัตตบอง ขาดโทษเมื่อตอนปลายที่สุด สารกรมราชทัณฑ์ ตุลาการเมืองพัตตบอง เลขที่ ๑๙๔ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๔”

สรุปคือ “พานดุรี” เคยอ้างตนเป็นเชื้อเจ้าที่เขมรมาแล้ว ตามที่บันทึกไว้คือ ขณะที่ขุนศรีมโนไมย สามีคนสุดท้ายของหม่อมเจ้าฉวีวาดกำลังป่วยหนักด้วยไข้ทรพิษ ความกลัวว่าหมอจะมายึดเรือนแล้วเผาทิ้งสมบัติเพราะติดโรคร้าย จึงรีบขายเรือนสมบัติ จากนั้นก็หนีไปเมืองบาสักในกัมพูชาใต้ ต่อมา “นุด” ก็สมอ้างว่ามีศักดิ์เป็นราชบุตรกษัตริย์นโรดมจนมีคนหลงเชื่อให้เงินทองไปไม่น้อยแล้วก็หนีออกจากบาสัก ไปยังพัตตบองและใช้วิธีเดียวกับที่บาสัก แต่คราวนี้ถูกจับเข้าคุก เป็นครั้งที่ ๒ ข้อหาตั้งตนเป็นราชบุตรกษัตริย์ จนได้รับอภัยโทษปล่อยตัว เมื่อสมเด็จพระนโรดมสวรรคตและผลัดรัชกาล ก็ข้ามมาที่สยามเพื่อตามหาหม่อมแม่ นัยว่าอยากจะได้มรดก แต่ก็ไปถูกจับที่เมืองพิจิตรตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

เหตุแห่งการสมอ้างดังที่ได้เล่าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากพานดุรีได้รับการเลี้ยงดูมาจากในวัง ทำให้เข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ การวางตัวจนมีความน่าเชื่อถือ เมื่อสมอ้างตนว่าเป็นเจ้าชาย จึงทำให้มีผู้หลงเชื่อ แม้ว่าขณะที่นายพานดุรีถูกจับจะมีอาชีพเป็นหมอดูและช่างสักก็ตาม ซึ่งการแอบอ้างตนเป็นเจ้านายเขมรก็ยังมีอยู่อีกหลายกรณี ต่างกรรม ต่างวาระกันออกไป

ช่วงเวลามาตรฐานแห่งสยามประเทศ พระอัจฉริยภาพของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔

ในช่วงหลายวันก่อนเพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งคลิปซึ่งตัดมาจากภาพยนตร์เรื่อง “ทวิภพ” ปี ๒๕๔๗ นำแสดงโดย “รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง” และ “ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์” โดยฉากที่ตัดมานั้นคือการสนทนากันเรื่องของ “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok Mean Time) ซึ่งกำหนดขึ้นจากการคำนวณของ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๔ เพื่อใช้เป็นการนับเวลามาตรฐานของสยาม ซึ่งในข้อนี้พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางการด้านคำนวณ ทางดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของพระองค์ ซึ่งการคำนวณเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงการคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นที่ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทรงคำนวณไว้ได้อย่างเที่ยงตรง แต่ “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok Mean Time) คืออะไร ? และเชื่อมโยงไปสู่ GMT หรือ Greenwich Mean Time หรือไม่ อย่างไร ? ค่อย ๆ ไล่เรียงอ่านกันไปเพลิน ๆ นะครับ 

เบื้องแรกสยามเรานั้นมีการนับเวลากันเป็นโมงยาม มีอุปกรณ์ท้องถิ่นทำจากะลามะพร้าวเจาะแล้วนำไปลอยน้ำเรียกกันว่า “นาฬิเก” ซึ่งตัวโอ่งน้ำและตัวกะลาจะมีการวัดขนาดเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ เมื่อจะใช้ก็เติมน้ำให้ได้ตามาตรวัดแล้วนำ “นาฬิเก” ไปลอย พอนาฬิเกมีน้ำเข้าเต็มแล้วจมลงก็จะถือว่าเป็น ๑ ชั่วโมง “นาฬิกา” ถ้าวัดกันในกลางวันคนวัดก็จะตี “ฆ้อง” เราก็จะได้ยินเสียงดัง “โมง” และแน่นอน !!! เมื่อวัดกันตอนกลางคืนก็จะตี “กลอง” เราก็จะได้ยินว่า “ทุ่ม” ซึ่งก็เป็นที่มาของหน่วยเรียกเวลาแบบของไทยเรา ซึ่งยังไม่เป็นมาตรฐานมากนัก (หอกลองหน้าเป็นยังไงไปชมกันได้ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามวัดโพธิ์ ส่วนตัวกลองไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๔ นั้น พระองค์ทรงเป็นนักศึกษาค้นคว้า ทรงสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์ ทรงศึกษาตำราจากต่างประเทศทั้งจากฝั่งอังกฤษและอเมริกาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนกระทั่งพระองค์ได้ทรงคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างสุริยุปราคาได้ล่วงหน้าถึง ๒ ปี จากการคำนวณในครั้งนั้นทำให้พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการ "สถาปนาเวลามาตรฐานประเทศไทย" โดยทรงวัดจุดเริ่มต้นจากตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษแล้วทรงวัดมาที่สยาม ทำไม ? ถึงต้องวัดจากกรีนิชประเทศอังกฤษ อันนี้มาจากตำราต่าง ๆ ที่ปรากฏในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นตำราดาราศาสตร์ เพื่อการเดินเรือ (เนื่องจากเขาสังเกตดวงดาวในเวลาเดินเรือ) ทั้งตำราของอังกฤษเอง หรือจะเป็นตำราของอเมริกาก็ตาม จะอ้างอิงจากเมืองท่าของอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจในขณะนั้น ในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านหอนาฬิการิมท่าก็จะเทียบเวลา ไป - กลับ เข้า – ออก โดยทุกลำเรือมักจะมีนาฬิกาอยู่ ๒ เรือน คือเรือนใหญ่เป็นเวลาของกรีนิช เรือนเล็กเป็นเวลาที่ปรับตามท้องถิ่นของประเทศที่เดินทางไปติดต่อ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ท่านทรงได้ศึกษาจนเข้าใจ ก่อนจะทรงคำนวณระยะห่างของชั่วโมงตามองศาที่เปลี่ยนไป จนได้เวลาของสยามที่ค่อนข้างแน่นอนตามที่พระองค์ได้ทรงอธิบายเอาไว้ใน “พระกระแสรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เรื่องสุริยุปราคา เมื่อปีมะโรง พศ. ๒๔๑๑ ต้นฉบับของขุนวรจักรธรานุภาพ และตำราวัดพระอาทิตย์ของพระจอมเกล้า” ว่า 

"ลองติชูต" (Longitude) ๑๐๐ องศา ๓๐ ลิปดา ตะวันออก ห่างจาก "กรีนุวิศมินไตม์" (Greenich Mean Time ) อยู่ ๖ ชั่วโมง ๔๒ นาที 

แต่จริง ๆ แล้วนักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ นั้นพระองค์ไม่ได้วัดองศามาที่กรุงเทพ ฯ แต่เทียบวัดไปที่บริเวณจังหวัดเพชรบุรี (เขาวัง - พระนครคีรี) ไม่ใช่ที่กรุงเทพฯ เพราะการเทียบวัดครั้งนั้นเป็นไปเพื่อพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ยังเป็นข้อถกเถียงที่อาจจะยังสรุปไม่เรียบร้อยนัก แต่อย่างไรก็ดี ณ เวลานั้น พระองค์ทรงให้กำเนิดเวลามาตรฐานประเทศไทย ก่อนนานาอารยประเทศ ๑๖ ปี 

จากการกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นเหตุสำคัญที่พระองค์ทรงมีรับสั่งให้สร้างหอนาฬิกาขึ้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ขึ้นทางด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม (เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ในเขตพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้เป็นตึกสูง ๕ ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงกำหนดให้เส้นแวง ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดา ๕๐ พิลิปดาตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย 

ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรกอันได้แก่ เจ้าหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ คือ ‘พันทิวาทิตย์’ และเจ้าหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ คือ ‘พันพินิตจันทรา’ คอยสังเกตและบันทึกการเคลื่อนที่ผ่านของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เส้นเมอริเดียนของ“พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” สำหรับพระที่นั่งภูวดลทัศไนยนั้นต่อมาถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อสร้างทิมดาบใหม่

นอกจากนี้รัชกาลที่ ๔ พระองค์ยังได้ทรงสังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่า การขึ้น-ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่าง ๆ นั้น แตกต่างกัน ทำให้ที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็น เวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok mean time) นั่นเอง

นอกจาก “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” รัชกาลที่ ๔ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ “พระบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม” ทรงออกแบบสร้างหอนาฬิกาตรงมุขเด็จของพระที่นั่งจักรีอีกแห่งหนึ่ง แต่มิได้ระบุชื่อและปีที่สร้าง แต่เชื่อว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้ชาวเรือขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยามองเห็น และเทียบเวลาเดินเรือได้สะดวก ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับการสถาปนาระบบเวลามาตรฐาน ไว้ในบันทึกการประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า

"...จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว..."

ภายหลังใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้มีการประชุมสภาสากลอุทกนิยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแบ่งภาคเวลา โดยกำหนดให้ตำบลกรีนิช เป็นจุดแรกของการกำเนิดเวลา ประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดเวลามาตรฐานใหม่ จากเส้นแวงที่ ๑๐๐ ตะวันออก ซึ่งพาดผ่านพระบรมมหาราชวัง มาเป็นเส้นแวงที่ ๑๐๕ องศาตะวันออก จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้อัตราเวลาทั่วราชอาณาจักรไทย เป็น ๗ ชั่วโมงก่อนเวลาที่กรีนิชตั้งแต่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ นับตั้งแต่นั้น

“บางกอกมีนไทม์” (Bangkok mean time) เวลามาตรฐานของกรุงเทพฯ ที่เทียบจากมาตรฐานเวลาสากลของโลกที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษ โดยวัดมุมในแผนที่ออกมาจากเมืองกรีนิชถึงกรุงเทพฯ ได้ที่ประมาณ ๑๐๐ องศา ๓๐ ลิปดา

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ในปลายรัชสมัยของพระองค์คือ พ.ศ. ๒๔๑๑ ความแม่นยำของการคำนวณนี้ รวมไปถึงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์นั้น ล้วนตรงตามเวลาที่พระองค์ท่านคำนวณไว้ทุกประการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้ 

หากวันนี้ท่านอยากจะเห็นหน้าตาของหอนาฬิกาที่ใกล้เคียงกับสมัยที่แรกสร้างนั้นท่านสามารถไปชมได้ที่ “หอนาฬิกาหลวงจำลอง” แถวถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ซึ่งตัวนาฬิกาเดิมที่รื้อถอนลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงกลาโหม ส่วนหอนาฬิกาหลวงจำลองนั้นสร้างขึ้นในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี โดยยังคงรูปแบบเดิมไว้ แต่ย้ายตำแหน่งมาตั้งเคียงอยู่กับหอกลองที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สถาปนิกระดับตำนาน ผู้เป็นโหลนของ “กรมขุนราชสีหวิกรม” ผู้สร้างหอนาฬิกาหลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง

‘พระยาประดิพัทธภูบาล’ ข้าราชการผู้ภักดี พระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย ผู้ริเริ่มสารพันในสยาม

"พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต” 

ประโยคสำคัญจาก “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เมื่อครั้งที่ได้มาขอตามเสด็จฯ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวจากคณะราษฎร โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องเสด็จฯ ออกจากสยาม ซึ่ง ณ ขณะนั้นพระองค์ยังไม่ทรงทราบว่าจะเสด็จฯ ไป ณ ที่ใด พระยาประดิพัทธฯ จึงได้ทูลกับพระองค์ว่า "ขอตามเสด็จฯ  จะขอพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง” โดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตอบว่า "ทางคณะราษฎรประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย” 

พระยาประดิพัทธฯ เป็นข้าราชการอีก ๑ ท่านที่แสดงให้เห็นชัดถึงความจงรักภักดี ไม่มีความเกรงกลัวคณะราษฎร ด้วยการเข้าเยี่ยมทูลกระหม่อมบริพัตรฯ อย่างสม่ำเสมอระหว่างที่พระองค์ถูกจับเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร จนเมื่อพระองค์ได้รับการปล่อยตัว ก็ทูลฯ เชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปพักอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนังจนได้ โดยพระองค์ไปประทับอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปประทับอยู่ที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซียในเวลาต่อมา นอกจากเข้าเฝ้าฯ และทูลเชิญเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตแล้วนั้น พระยาประดิพัทธฯ ยังเดินทางไปเข้าเฝ้า ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วัง หลังจากทราบข่าวว่าคณะราษฎรปล่อยตัวออกมา ทั้งยังไปเข้าเฝ้าฯ เจ้านายอีกหลายต่อหลายพระองค์ 

“มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นบุตรของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร เป็นหลานของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ต้นสกุล ณ ระนอง “พระยาประดิพัทธภูบาล” เกิดที่เกาะปีนัง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ยังเด็ก จนเมื่อโตขึ้นพอจะสามารถศึกษาต่อ จึงได้กราบถวายบังคมลาไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ก่อนจะกลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มจากเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน ก่อนจะกลับมารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้อำนวยการงานเสด็จฯ เยี่ยมเกาะลังกา จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จฯ ไปยังยุโรปด้วยเป็นพิเศษในที่ “หลวงสุนทรโกษา” ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก สามารถใช้ภาษาได้หลากหลายทั้ง ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน 

ด้วยความรู้ด้านภาษา ทั้งยังจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ ทำให้เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในคดี “พระยอดเมืองขวาง” จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการ เพื่อร่วมว่าความในฐานะทนายแผ่นดิน  

ในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๖ “พระยาประดิพัทธฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซ่งท่านก็ได้รับหน้าที่ทั้งยังประสานงานทั่วทิศ ทั้งในส่วนของรัฐต่าง ๆ ทั้งกลันตัน ตรังกานู ที่เคยอยู่ในอาณัติของสยาม นอกจากดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ท่านยังเชื่อมต่อการค้าขาย ก่อให้เกิดเศรษฐกิจอันดีต่อภาคใต้ของสยามเรื่อยมา 

ต่อมาในรัชสมัย ของ“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๗ เมื่อท่านได้กลับมารับราชการในสยาม ท่านได้รับเกียรติให้เป็น “พระยายืนชิงช้า” ในพระราชพิธีตรียัมปวายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้ เพราะในขณะนั้นสภาพบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดพิธีนี้ในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงทรงเห็นสมควรให้ยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย "โล้ชิงช้า" ตั้งแต่นั้น ตราบจนปัจจุบัน 

นอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์แล้ว ชื่อของ “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) ยังปรากฏไปอีกหลายแห่ง สืบเนื่องจากคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ ซึ่งผมขอยกมาเล่าให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยสังเขปดังนี้ 

ถนน “ประดิพัทธ์” ถนนที่มีความยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธินตรงแยกสะพานควายไปยังถนนพระรามที่ ๖ ตรงแยกสะพานแดง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการขยายกิจการของกรมทหารและกิจการของราชการขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กรมกองต่าง ๆ ต้องออกมาตั้งที่ทำการในบริเวณทุ่งสะพานควายและใกล้เคียง แต่ถนนที่จะเชื่อมต่อถนนหลักกับถนนหลักนั้นยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่ดินบางผืนมีเจ้าของและต้องทำการซื้อเพื่อเวนคืน เมื่อการณ์เป็นดังนี้ “พระยาประดิพัทธฯ” จึงได้มอบที่ดินส่วนตัวเป็นประเดิมเพื่อให้ใช้ตัดถนนเชื่อมต่อดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางการจึงให้เกียรติโดยนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อถนน เดิมถนนเส้นนี้ชื่อ “ถนนพระยาประดิพัทธ์” แต่กาลเวลาทำให้กร่อนไปเหลือแค่ราชทินนามของท่าน (แต่ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พื้นที่ถนนเส้นนี้กลับกลายเป็นที่รวมกำลังพลของคณะก่อการไปเสียฉิบ) 

นอกจากถนน “ประดิพัทธ์” แล้ว พระยาประดิพัทธฯ ได้มอบที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๘ วา  เป็นโฉนดที่ดินที่ ๕๘๓๖ สาระบาญเล่มที่ ๕๙  น่าที่ ๓๖ ตั้งอยู่ในตำบลคลองเตย  อำเภอพระโขนง  จังหวัดพระประแดงนครเขื่อนขันธ์ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ตัดเป็นถนน “สุนทรโกษา” เดิมถนนเส้นนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่าถนน “หลวงสุนทรโกษา” ซึ่งราชทินนามของท่านเมื่อแรกรับราชการ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากรในปัจจุบัน 

ที่ดินผืนนี้ในบริเวณใกล้กันยังได้ตัดเป็นทางเชื่อมแยก ที่เรียกกันว่าห้าแยก “ณ ระนอง” และถนน ณ ระนอง ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลของท่าน โดยทั้งห้าแยกและถนนนี้อยู่ในพื้นที่คลองเตยเชื่อมต่อระหว่างถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ ๓ ถนนสุนทรโกษา และถนน ณ ระนอง 

ที่สำคัญที่ดินผืนนี้ปัจจุบันนอกจากถนนที่ตัดผ่านและแยกดังกล่าวแล้วยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์” อีกด้วย 

“สวนสนประดิพัทธ์” ชื่อชายหาดแห่งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับท่านโดยตรง เนื่องจากเป็นชื่อที่มาจาก “พันธุ์ต้นสน” ที่ท่านได้นำเข้ามาปลูกซึ่ง “สนประดิพัทธ์” นี้ เป็นสนใน “วงศ์สนทะเล” อันมีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เหตุที่นำมาปลูกนั้นนอกจากความสวยงามแล้ว “ราก” ของสนพันธุ์นี้ เป็นปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว อีกทั้งยังพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนตํ่าทำให้สามารถปลูกอื่น ๆ แซมได้ โดยมีสนปกคลุมในฐานะพืชยืนต้น ลดการพังทลายของดินและดินถล่ม ไม่แปลกที่ตลอดหาดในอำเภอหัวหินจะมีทิวสนประดิพัทธ์ปลูกตลอดแนวของชายหาด ก็เพื่อป้องกันการพังทลายของดินนั่นเอง

นอกจาก “สนประดิพัทธ์” แล้ว “พระยาประดิพัทธภูบาล” ยังเป็นผู้นำ “ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยเข้ามาริเริ่มปลูกขึ้นในที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี โดยแรกเริ่มนั้นนำมาปลูกในฐานะพืชประดับเพื่อความสวยงาม จนกระทั่งประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียมีการปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างได้ผล ทางไทยจึงได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเห็นว่าทางภาคใต้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางมาเลเซีย ประกอบกับต้นปาล์มน้ำมันที่นำเข้ามาก่อนหน้าเจริญเติบโตดี จึงได้มีการส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยเริ่มที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่แรก 

มีข้อสังเกตว่าตระกูล “ณ ระนอง” ของท่าน “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) นับเป็นตระกูลนักบุกเบิก ริเริ่ม ตัวจริง โดยเฉพาะการเพื่อต่อยอดด้านเศรษฐกิจ เช่น เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแร่ดีบุก ตระกูลแรกในประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มนำ “ยางพารา” มาปลูกในสยาม ฯลฯ ด้วยอาจจะเป็นเพราะตระกูลนี้มีความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง จึงทำให้การงานรุ่งเรืองขึ้นได้อย่างเด่นชัดแม่จะเริ่มต้นตระกูลจากการเป็น “กรรมกร” ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อค้าก็ตาม อีกทั้งยังเป็นตระกูลที่มีความสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีแต่ความเจริญอยู่ในตระกูลมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นกับการแสดงถึงความจงรักภักดีของ “พระยาประดิพัทธภูบาล” ที่ไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ จากคณะราษฎร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนหรือคนในตระกูลก็ตาม ซึ่งตรงนี้สามารถยืนยันได้ด้วยบันทึกของ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร” พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ในเหตุทูลฯ เชิญเสด็จบ้าน ณ ระนอง ที่ปีนัง โดยทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ได้ทรงมีพระดำรัสต่อพระยาประดิพัทธฯ ว่า “เจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง” 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ท่านตอบว่า "ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จฯ  แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ" 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ถึงแก้อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ด้วยอายุสิริรวม ๙๖ ปี ขอกราบคารวะท่านสักหนึ่งคำรบ นี่ละครับ !!! ข้าราชการผู้ภักดีจากตระกูล ณ ระนอง

ประหาร 5 ยุวกษัตริย์ เส้นทางครองอำนาจสีโลหิต สู่การเถลิงราชบัลลังก์สมัยกรุงศรีอยุธยา

ถ้าใครได้ชมซีรี่ส์เรื่อง 'แม่หยัว' ในตอนแรก จะปรากฏฉากการประหารยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการประหารยุวกษัตริย์ที่เราได้เห็นนั้นไม่ใช่แค่พระองค์เดียว แต่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นรวม 5 ครั้ง ตลอด 200 กว่าปีแห่งความเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา มีพระองค์ใดบ้าง ? และเหตุแห่งการประหารเกิดขึ้นเพราะอะไร ? ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันดังนี้ครับ 

ยุวกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์คือ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' หรือ 'สมเด็จพระเจ้าทองลัน'พระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' กษัตริย์พระองค์แรกจากวงศ์สุพรรณภูมิและพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระมาตุลาของ 'สมเด็จพระราเมศวร' พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาอยู่ราว 1 ปี 'ขุนหลวงพะงั่ว' จึงเสด็จ ฯ มาถึงกรุงศรี ฯ (น่าจะยกกองทัพมาด้วยเพื่อทวงราชบัลลังก์) ด้วยความเกรงในพระราชอำนาจ 'สมเด็จพระราเมศวร' จึงถวายพระราชบัลลังก์ให้กับพระมาตุลาของพระองค์ส่วนพระองค์ก็เสด็จฯ กลับลพบุรี โดย 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' ครองบัลลังก์อยู่ 18 ปี ก็สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อในปี พ.ศ 1931 แต่ผ่านไปเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น 'สมเด็จพระราเมศวร' ก็ทรงยกกองกำลังมาจากลพบุรี แล้วเข้ายึดอำนาจอย่างเสร็จสรรพ ตามสิทธิธรรมที่พระราชบัลลังก์นี้ เป็นของพระองค์มาก่อน โดยพระองค์รับสั่งให้กุมตัว 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' ยุวกษัตริย์วัย 15 พรรษา ไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งพงศาวดารบันทึกไว้ว่า 

“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จฯ ลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ” 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่ทรงตกเป็นเหยื่อแห่งการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็คือ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ผู้มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร' ซึ่งทรงครองราชย์อยู่เพียง 4 ปี ก็สวรรคตด้วยไข้ทรพิษในปี พ.ศ. 2076 และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางได้สนับสนุนให้ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ขึ้นครองราชย์ ซึ่งในเหล่าขุนนางทั้งหลายนั้น เชื่อกันว่ามีโต้โผใหญ่ที่อาจจะมีศักดิ์เป็น 'ตา' ของ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' เป็นผู้ผลักดัน เพียงเพราะอยากได้อำนาจผ่านหลาน โดยมองข้าม 'พระไชยราชา' พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอันเกิดจากพระสนม ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเรื่องราวก็เป็นไปตามคาดเวลาผ่านไปเพียงไม่เกิน 5 เดือน 'พระไชยราชา' ก็ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับกุมตัว 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นฉากที่เราได้เห็นในซีรี่ย์เรื่อง 'แม่หยัว' นั่นเอง จากนั้นพระไชยราชาก็ปราบดาภิเษกเป็น 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' 

แต่ทว่าเหมือนกรรมจะตาม 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' ทัน เพราะยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจนั้นก็คือ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' หรือ 'สมเด็จพระแก้วฟ้า' พระราชโอรสของ 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' กับ แม่อยู่หัว (แม่หยัว) ศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง โดย 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ในปี พ.ศ. 2089 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ซึ่งอำนาจที่แท้จริงนั้นไม่น่าจะเป็นของพระองค์เพราะในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า 

"นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทราย ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า.....” 

นั่นก็คืออำนาจทั้งหมดอยู่ที่ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ซึ่งพระองค์มีเรื่องลับลมคมนัยอยู่กับ 'ขุนวรวงศา' และเรื่องกำลังแดงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปฏิปักษ์บางกลุ่มก็กำจัดได้ บางกลุ่มก็ยังคงเป็นเสี้ยนหนาม และถ้า 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงเติบใหญ่จนคุมไม่ได้การณ์ข้างหน้าก็จะเป็นภัย ทำให้ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ออกอุบายดำเนินการรุกฆาตด้วยการเอา 'ขุนวรวงศา' ขึ้นเป็นกษัตริย์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

“....จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแต่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นเป็นประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีรู้พระอัชฌาสัยก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ก็ควรอยู่....” 

ซึ่งแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ก็รวบรัดตัดตอนตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจากนั้นก็ดำเนินการสำเร็จโทษ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' โดยมีบันทึกไว้ว่า

“ครั้นศักราช 891 ปีฉลู เอกศก (พ.ศ.2072) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับสองเดือน” 

ต่อมาอีกราวเกือบ 100 ปี ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 4 ที่ต้องมีชะตากรรมถูกสำเร็จโทษก็คือ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาที่ 2' พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน 'สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม' ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษาเศษ โดยพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนจาก “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ขุนนางสำคัญตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าท่านออกญาฯ คือโอรสลับของ 'สมเด็จพระเอกาทศรถ' ซึ่งในกาลต่อมาท่านออกญาฯ ก็ยึดอำนาจขึ้นครองราชย์เป็น 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง'

จุดหักเหของ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ผ่านไปแล้ว 4 เดือน มารดาของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ได้ถึงแก่กรรม จึงมีขุนนางน้อยใหญ่ไปช่วยงานกันมาก ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เสด็จ ฯ ขึ้นว่าราชการจึงทำให้มีขุนนางเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนน้อย ด้วยความเยาว์หรืออย่างไรก็ไม่ทราบเมื่อมีขุนนางเพ็ดทูลว่า “ออกญากลาโหมคิดกบฏเป็นแน่แท้” พระองค์ก็ทรงเชื่อตามนั้น ก็เลยทรงรับสั่งให้ทหารขึ้นประจำป้อมล้อมวัง พร้อมรับสั่งให้ขุนมหามนตรีไปลวงออกญากลาโหม ว่าพระองค์รับสั่งให้เฝ้า ฯ แต่ฝั่งออกญา ฯ ได้ทราบแผนเสียก่อน จนออกปากว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราจะทำตามรับสั่ง" ว่าแล้วจึงยกกองกำลัง 3,000 นาย เข้ายึดวังหลวงพร้อมกับไล่ตามจับกุมตัว “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ซึ่งเสด็จฯ หนีไปได้ที่ป่าโมกน้อย ก่อนกุมตัวพระองค์ไปสำเร็จโทษ โดย “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงครองราชย์อยู่ราว 1 ปีเศษ 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพระองค์สุดท้ายคือ “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสใน “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” เป็นพระราชอนุชาของ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมเชษฐาด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ในปี พ.ศ. 2172 ด้วยพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่ทรงเล่นสนุกไปตามประสา จนผ่านไปราว 30 กว่าวัน เหล่าขุนนางทั้งหลายต่างอดรนทนไม่ได้ จึงรวมตัวกันพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปขอร้อง “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ให้ขึ้นครองราชย์ เพื่อเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย (ตรงนี้อยากให้อ่านเพลิน ๆ โดยผมแนะนำว่าควรหาเอกสารอื่นประกอบ เนื่องจากมีบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นแผนการทางการเมืองของออกญาฯ มีชื่อท่านนั้น) เมื่อเป็นดังนี้ท่านออกญาฯ จึงไม่สามารถปฏิเสธการร้องขอได้ จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” แล้วทรงถอด “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ออกจากกษัตริย์ แต่ยังคงให้ทรงประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงกับพระนมพี่เลี้ยงก่อนที่ต่อมาจะถูกไล่ออกจากวัง ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ข้างวัดท่าทราย มีคนรับใช้ตักน้ำหุงข้าวให้ 2 คน เท่านั้น ถึงตรงนี้เดาได้เลยว่า “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” คงทำตัวไม่ถูก และคงจะทรงอึดอัดขัดข้องพระทัยมิใช่น้อย จนถึงปี พ.ศ. 2172 เมื่อ พระองค์เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา จึงทรงเกิดทิฐิมานะขึ้น โดยพระองค์ทรงรวบรวมขุนนางที่ถูกออกจากราชการได้ราว 200 คน เป็นกองกำลังยกเข้าไปในวังเพื่อหมายจะยึดอำนาจคืน แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดนทหารของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” หรือในขณะนั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” จับกุมได้จึงถูกนำตัวไปสำเร็จโทษเฉกเช่นเดียวกับพระบรมเชษฐาของพระองค์ 

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าบรรดายุวกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจของผู้มากบารมีที่เข้มแข็งที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายุวกษัตริย์ทั้งหลายแม่จะครองราชย์ตามโบราณราชประเพณี แต่กระนั้นก็คงไม่มีพลังใด ๆ พอที่จะปกป้องตนเอง จึงทำให้ต้องถูกสำเร็จโทษตกไปตามกัน ซึ่งการแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ที่เป็นปัจจัยให้ราชธานีแห่งนี้ ค่อย ๆ เสื่อมถอย อ่อนแอ จนถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2310

‘รามัญประเทศ’ จาก ‘สุธรรมวดี’ สู่ ‘หงสาวดี’ ร่องรอยอาณาจักรสำคัญสู่ชนกลุ่มน้อยแห่งสุวรรณภูมิ

'มอญ' เป็นชนชาติเก่าแก่ ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่ากินเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" โดยอาณาจักรเริ่มแรกของมอญ มีตำนานกล่าวว่าเริ่มต้นขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคว้นมณีปุระ โดย 'พระเจ้าติสสะ' มีเมืองหลวงชื่อ 'ทูปินะ' 

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 241 เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระโอรสของพระเจ้าติสสะ 2 พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลอพยพลงเรือสำเภามาถึงยังบริเวณอ่าวเมาะตะมะซึ่งเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดี จึงลงหลักปักฐานสร้างเมืองใหม่จนรุ่งเรืองด้วยการค้าขาย และมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา ทั้งรับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์และศาสนา 

ซึ่งความเจริญนั้นกระจายตัวอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ครอบคลุมเมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี เมืองเมาะตะมะ และเมืองพะโค หรือหงสาวดี โดยเมืองทั้ง 3 นี้ มีความเจริญก่อตัวเป็นรูปธรรมไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวาราวดี ทางฝั่งไทย แต่ทั้ง 3 เมือง ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า 'ดินแดนสุวรรณภูมิ' 

ก่อนที่ 'พระเจ้าสีหะราชา' บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ ได้สถาปนาอาณาจักรมอญขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีชื่อว่า 'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' จากจารึกกัลยาณี กล่าวว่า มีเมืองหลวงอยู่ ณ ตีนเขาเกลาสะ ทางใต้ของเมืองสะเทิมมีพระเจดีย์ชเวซายัน บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ในกัลป์นี้ รวมถึงองค์ที่พระควัมปตินำมาจากลังกา ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญทั้งในด้านการค้าขาย ด้านการเกษตร ด้านการชลประทาน และด้านศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งทั้งคนมอญและคนพม่าเชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้นำพระพุทธศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิที่ว่าก็คือ 'สะเทิม' หรือ 'สุธรรมวดี' อันมีพื้นที่ครอบคลุมจากสะเทิมไปจรดอาณาจักรทวาราวดี 

'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' ถือได้ว่าเป็น 'รามัญประเทศ' ยุคแรก มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาถึง 59 พระองค์ เริ่มจาก 'พระเจ้าสีหะราชา' มาจนล่มสลายในสมัยของ 'พระเจ้ามนูหะ' ราวปี พ.ศ.1600 สืบเนื่องมาจากการรุกราน 'พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1' ของเขมร ได้เข้ายึดครองลพบุรี ก่อให้เกิดการอพยพใหญ่ของมอญทวารวดีเข้าสู่หงสาวดีและสะเทิม จากนั้นพวกเขมรก็เลยคืบเข้ามา จนทำให้ 'พระเจ้ามนูหะ' ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก 'พระเจ้าอโนรธา' แห่งอาณาจักรพุกามให้ยกทัพมาช่วยต้านทานกองทัพเขมร แต่ 'พระเจ้าอโนรธา' กลับฉวยโอกาสยึดครองอาณาจักรสะเทิม โดยปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า “พระองค์รับสั่งให้ยกทัพมายังกรุงสะเทิม นำพระไตรปิฎก นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลป์ และจับตัวพระเจ้ามนูหะกษัตริย์แห่งกรุงสะเทิมพร้อมด้วยพระมเหสีกลับไปพุกาม เมื่อยึดได้แล้วก็ถือโอกาสขยายอำนาจเข้ามาจนถึงลพบุรี ทั้งนี้ภายหลังพม่ายอมคืนลพบุรีให้เขมร โดยมีข้อแม้ว่าเขมรต้องยอมรับอำนาจเหนือดินแดนที่พม่าตีได้” 

ยุคที่สองของ 'รามัญประเทศ' คือยุค 'ราชวงศ์เมาะตะมะ-หงสาวดี' หรือ 'ยุคอาณาจักรหงสาวดี' เมื่ออาณาจักรพุกามอ่อนแอลงจากการรุกรานของมองโกล พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพุกามและสถาปนา 'อาณาจักรหงสาวดี' มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพราะพระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัยซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมากในเวลานั้น 

ต่อมาในสมัย 'พญาอู่' ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี มาจนถึงยุคราชบุตรของพระองค์คือ 'พระเจ้าราชาธิราช' พงสาวดีในยุคของพระองค์ประสบภาวะสงครามเกือบตลอดรัชสมัย โดยเฉพาะกับ 'อาณาจักรอังวะ' ในสมัยของ 'พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง' แต่พระเจ้าราชาธิราชทรงใช้พระราโชบายยุยงให้อังวะกับรัฐต่าง ๆ แตกกัน จึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้ โดยในสมัยของ 'พระเจ้าราชาธิราช' นั้น แม้จะมีสงครามเกือบตลอดเวลา แต่อาณาจักรหงสาวดีก็เป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลจากแม่น้ำอิรวดี ไปจรดทางตะวันออกที่แม่น้ำสาละวิน 

อาณาจักรมอญยุคนี้มาเจริญสูงสุดในสมัยของ 'พระนางเชงสอบู' ต่อด้วยสมัย 'พระเจ้าธรรมเจดีย์' เนื่องจากในระยะนั้นพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามภายใน ทำการสู้รบกันเอง มอญจึงมีโอกาสในการทะนุบำรุงประเทศอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ กิจการในพุทธศาสนา ได้แก่ การบูรณะองค์พระเจดีย์ชเวดากอง การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม 

มอญในยุคหงสาวดีต้องสิ้นสุดลงในสมัยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' เพราะถูกพม่าแห่ง 'ราชวงศ์ตองอู' นำโดย 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' และขุนศึกคู่พระทัยอย่าง 'บุเรงนอง' บุกประชิดถึง 3 ครั้ง จนขาดกำลังในการต้านทาน อีกทั้งพันธมิตรอย่าง 'สอพินยา' เจ้าเมืองเมาะตะมะ ที่เป็นพี่เขยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' ก็แข็งเมืองไม่นำกำลังมาช่วย (ก่อนที่ 'สอพินยา' จะโดนกองทัพตองอูสังหารในเวลาต่อมา)  หงสาวดีจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ. 2082 โดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้รวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน ด้วยการรับอารยธรรมต่าง ๆ ของมอญมาใช้ในราชสำนักพม่า ให้ชาวมอญเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ของกองทัพ รวมทั้งย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงหงสาวดี 

ยุคที่สาม 'ยุคอาณาจักรหงสาวดีใหม่' หลังจากสมัยของ 'พระเจ้าบุเรงนอง' แห่งราชวงศ์ตองอู ชาวมอญไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงจากพม่าได้อีก จึงได้เกิดกบฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องทำสงครามทั้งกับจีนฮ่อและไทย มอญได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพลก่อการโดยมีผู้นำคือ 'สมิงทอพุทธิเกษ' (หรือพุทธิกิตติ) กู้เอกราชคืนมาจากพม่าพร้อมประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ. 2283 ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะเพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้สิ้นซากแต่ทำไม่สำเร็จแต่ก็ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของพม่าไว้ได้ทั้งหมด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2290 'พญาทะละ' ได้ยึดอำนาจสมิงทอพุทธิเกษ พร้อมทั้งได้ขยายอาณาเขตของหงสาวดีออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถยึดพม่าตอนบนได้ใน พ.ศ. 2294 บุกเข้ายึดอังวะได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2294 เชื้อพระวงศ์อังวะถูกจับไปพะโค ซึ่งดูเหมือนว่ามอญกำลังจะรวมพม่าเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมอญได้สำเร็จ แต่ความประมาทอย่างหนึ่งที่กลายเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของหงสาวดี อันเป็นปัจจัยทำให้พม่าสามารถพลิกฟื้นและตีกลับได้ก็คือการรีบยกทัพกลับพะโคหลังจากได้ชัยชนะ โดยทิ้งกองทัพไว้เพียงสามกองทัพเพื่อต้านการลุกฮือของพม่า 

จากความผิดพลาดที่กล่าวมา ทำให้หัวหน้าหมู่บ้านชเวโบ (หรือมุกโชโบ) ชื่อ 'อองไชยะ' กล้าที่จะนำสมัครพรรคพวกเข้าตีกองทหารมอญที่ 'พญาทะละ' ทิ้งไว้จนแตกยับเยิน และแม้พญาทะละจะส่งกองทัพมอญไปสู้อีกกี่ครั้งก็ถูกต้านทานและได้รับความเสียหายกลับมาทุกครั้ง อีกทั้งทัพพม่าก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นกองทัพขนาดใหญ่และเข้มแข็ง เข้ารุกคืบ ยึดพื้นที่ตอนเหนือคืนไว้ได้เป็นส่วนมาก จากนั้น 'อองไชยะ' จึงได้สถาปนาราชวงศ์พม่าขึ้นใหม่คือ 'ราชวงศ์โก้นบอง' (คองบอง) พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น 'พระเจ้าอลองพญา' เพื่อนำพม่าต่อสู้กับมอญ 

เมื่อตีเท่าไหร่ก็ไม่แตก ทางทัพมอญจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีป้องกันเขตแดน โดยพยายามยึดพื้นที่ทางใต้เพื่อแสดงความเป็น 'รามัญประเทศ' ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังออกกฎต่าง ๆ เพื่อให้ไม่มีความเป็นพม่าอยู่ในพื้นที่ ทั้งประหารเจ้านายพม่าข้างอังวะ และเชื้อพระวงศ์ตองอูจนหมดสิ้น ทั้งยังบังคับให้พม่าทางใต้แต่งกายให้เป็นมอญทั้งหมด 

แต่เพียงแค่การป้องกันคงไม่เป็นผล เพราะในปี พ.ศ. 2295 พระเจ้าอลองพญา นอกจากจะยึดพม่าตอนบนไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ยังรุกคืบมาลงมายังพม่าทางใต้เรื่อย ๆ จนถึง ปี พ.ศ. 2300 อาณาจักรมอญก็ได้ปิดฉากลง โดยมี 'พญาทะละ' เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญ เพราะมอญต้องพ่ายแพ้อังวะอย่างราบคาบ จนคนมอญต้องอพยพหนีตายไปทั่วสารทิศ ในการณ์นี้ 'พระเจ้าอลองพญา' ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือมอญ โดยการเปลี่ยนชื่อ 'เมืองพะโค' จาก 'พะโค' ไปเป็น 'ย่างกุ้ง' ซึ่งแปลว่า 'สิ้นสุดสงคราม' ทำให้ 'รามัญประเทศ' ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวมอญกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top